พิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการในหลักสูตรการประยุกต์ใช้โครงการหลวงโมเดลในการพัฒนาพื้นที่สูง

 21 ก.ค. 2566 03:24   


วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ การประยุกต์ใช้โครงการหลวงโมเดลในการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนภายใต้สถานการณ์วูก้าเวิลด์ (International Workshop on “Application of the Royal Project Sustainable Highland Development Model in an Unsettled and Unpredictable VUCA World”) ณ ห้องประชุม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการร่วมประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติดสมัยที่ 66 ณ สาธารณออสเตรีย เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ได้นำหลักสูตรเรียนรู้โครงการหลวง จำนวน 5 หลักสูตร ไปเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมจากนานาประเทศ


การอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ เป็นความร่วมมือของมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง พร้อมด้วยกระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ซึ่งมุ่งกลุ่มเรียนรู้จากนานาชาติ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-23 กรกฎาคม 2566 ในรูปแบบการบรรยาย อภิปราย และการศึกษาดูงานในพื้นที่ปฏิบัติงานของมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการแม่แฮ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยเป้า อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่


พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ได้กล่าวแก่ผู้ร่วมอบรมจาก 7 ประเทศ ได้แก่ประเทศไทย ภูฏาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา มาเลเซีย ศรีลังกา และสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล ว่าโครงการหลวงเริ่มขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ลดการปลูกฝิ่น และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร ด้วยวิธีการปลูกพืชทดแทน บนหลักการและแนวทางพระราชทาน คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเราเรียกว่า โครงการหลวงโมเดล องค์การสหประชาชาติจึงนำแนวทางของโครงการหลวงโมเดล เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้กับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของพื้นที่ต่าง ๆ การสืบสาน รักษา และต่อยอด ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่อง จนสามารถพัฒนาพื้นที่ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน ทำให้ประชาชนบนพื้นที่สูงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามลำดับเกษตรกรได้รับการพัฒนา 13,335 ครัวเรือน ในพื้นที่โครงการหลวง 39 แห่ง พืชที่ปลูกล้วนแล้วแต่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกิดการรวมกลุ่มวิสาหกิจ 20 กลุ่ม สหกรณ์ 50 แห่ง สถาณการณ์หลังการระบาดใหญ่ของ COVID-19 สงครามในยุโรป ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทำให้โลกต้องตกอยู่ในสภาวะที่เรียกว่าวูก้า (VUCA) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และ ความคลุมเครือ จากสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อการพัฒนาที่ทุกคนจะต้องร่วมกันระดมความคิด เพื่อเตรียมพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วดังกล่าว


 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ