องคมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรอง และขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ครั้งที่ 1/2567

 18 ต.ค. 2566 18:15   


วันที่ 18 ตุลาคม 2566 นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง และ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองและขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ครั้งที่ 1/2567 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ จังหวัดเชียงใหม่

องคมนตรีได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ จังหวัดตาก ซึ่งมีพื้นที่ดำเนินการ ครอบคลุม 2 อำเภอ 2 ตำบล 6 หมู่บ้าน ในการดำเนินการขั้นพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของราษฎร โครงการหลวงได้ผลักดันการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่หินหลวงน้อย ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2565 ขณะนี้สามารถกักเก็บน้ำได้ 173,790 ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 88.66 ของปริมาณความจุอ่างแล้ว ซึ่งสร้างประโยชน์ครอบคลุม 4 หมู่บ้าน คือ บ้านห้วยขนุน ห้วยโป่ง ทีวะเบยทะ และห้วยสินา ราษฎร 1,098 คน จาก 283 ครัวเรือน ได้รับประโยชน์ในการทำการเกษตร อุปโภค และบริโภค และในปี 2567 นี้ ได้เริ่มทำระบบกระจายน้ำออกไปอีก 4 จุด ซึ่งจะทำให้ราษฎรอีก 4 หมู่บ้าน ได้รับประโยชน์มากขึ้น สำหรับการขยายเขตไฟฟ้า ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จใน 1 หย่อมบ้าน ได้แก่ บ้านห้วยขนุน พื้นที่รวม 22.38 กิโลเมตร ราษฎรได้รับประโยชน์ 371 ครัวเรือน ในปี 2567 จะดำเนินการเพิ่มเติมอีก 5 หย่อมบ้าน สำหรับการส่งเสริมอาชีพภาคเกษตร เกษตรกรที่ร่วมโครงการชุดแรกในปี 2560 จำนวน 208 ราย ได้เพิ่มขึ้นเป็น 520 ราย ปี 2566 นี้ มีรายได้จากพืชผัก ไม้ผล พืชไร่ และกาแฟ รวมมูลค่า 2,345,000 บาท จากปริมาณผลผลิตรวม 112,579 กิโลกรัม ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็น 20,081 บาท โครงการหลวงเลอตอ ยังดำเนินการทดสอบสตรอว์เบอร์รี พันธุ์พระราชทาน 80, 88 และ 89 รวมทั้ง เคพกูสเบอร์รี และร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทดสอบพันธุ์เสาวรส 5 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ไทนุง พันธุ์อั้นอี้ พันธุ์ชิงชิน พันธุ์หวงเทียนหวัง และพันธุ์ชุนเถา ฝรั่ง 5 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ หงเป่าสือ แตงโม เหมยกุยหง สุ่ยหมี่ จินชุ่ย และมะละกอ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์จินเชียง หงเชียง และเรดกอลิลล่า เพื่อเป็นพืชทางเลือกส่งเสริมเกษตรกรต่อไป ในการส่งเสริมอาชีพนอกภาคเกษตร โครงการหลวงเลอตอมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลิตผลในพื้นที่ โดยได้อบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปผลไม้แก่กลุ่มแม่บ้าน และเยาวชน จำนวน 7 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กล้วยอบแห้ง แยมเสาวรสผสมมะม่วง แยมหม่อน ซอสมะม่วง น้ำมะขามป้อม น้ำเสาวรสผสมมะม่วง และน้ำหม่อน รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากถั่ว ได้แก่ เครื่องดื่มจากถั่ว น้ำพริกถั่ว เนยถั่ว และข้าวเกรียบถั่ว เป็นกระบวนการส่งเสริมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตแบบครบวงจร ลดปัญหาความเสียหายจากการขนย้ายผลผลิตสด สำหรับด้านสิ่งแวดล้อม ในปี 2567 โครงการหลวงเลอตอมีแผนปลูกป่าแบบวนเกษตรเพิ่มขึ้นอีก 100 ไร่ เพิ่มพื้นที่ปลูกกาแฟภายใต้ระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอีก 61 ไร่ รวมทั้งปลูกป่าให้สี จำนวน 20 ไร่ เพื่อให้กลุ่มหัตถกรรมปกาเกอะญอได้ใช้ประโยชน์จากสีธรรมชาติในการย้อมผ้า


ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน องคมนตรี ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ได้ประชุมร่วมกับคณะทำงานอาสาสมัครของมูลนิธิโครงการหลวง ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน จำนวนรวมทั้งสิ้น 91 คน ซึ่งส่วนใหญ่ได้เข้ามาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลืองานของโครงการหลวงตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อาสาสมัครเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานในพระราชประสงค์ช่วง 5 ทศวรรษ จากโครงการพระบรมราชานุเคราะห์ ในปี พ.ศ.2512 เปลี่ยนเป็นโครงการหลวงพัฒนาชาวเขา ในปี พ.ศ.2515 โครงการหลวง ในปี พ.ศ. 2522 จนถึงการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิโครงการหลวง ในปี พ.ศ.2535 จนสามารถช่วยชาวเขาให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการปลูกพืชเขตหนาวทดแทนฝิ่น ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระยะ 7 ปีที่ผ่านมา คณะทำงานอาสาสมัครเหล่านี้ ยังเป็นผู้ให้คำปรึกษา และข้อเสนอแนะตามความเชี่ยวชาญ รวมทั้งช่วยติดตามและประเมินการทำงานของส่วนงานต่าง ๆ ของมูลนิธิโครงการหลวง ให้เป็นไปตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อต่อยอดการพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาอาชีพแก่ประชาชน ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน

 

 


 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ