องคมนตรีประชุมติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนตุลาคม 2566 และการประชุมมอบนโยบายการ

 19 ต.ค. 2566 18:46   


วันที่ 19 ตุลาคม 2566 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานการประชุมมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนตุลาคม 2566 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการประชุมมอบนโยบายการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิโครงการหลวง ณ ห้องประชุม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

โดยรูปแบบการทำงาน “ต่อยอด” สู่เป้าหมายการสร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชนอย่างยั่งยืน ตามพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อ “สืบสาน รักษา” รูปแบบการทำงานแบบโครงการหลวง ตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สิ่งสำคัญคือ การสอดประสานการทำงานในพื้นที่สถานีเกษตรหลวง และศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 39 แห่ง ใน 7 จังหวัดภาคเหนือ ระหว่างนักวิจัย นักส่งเสริมของมูลนิธิโครงการหลวง และหน่วยงานร่วมบูรณาการ 27 หน่วยงาน เป็นการปฏิบัติงานที่ยึดตามแผนปฏิบัติการประจำปีของมูลนิธิโครงการหลวง


ในปีงบประมาณ 2566 มีการดำเนินงานหลัก ได้แก่ การวิจัยพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่สูง ผลงานวิจัยเด่น คือ สามารถคัดเลือกพันธุ์กุหลาบ แคลล่าลิลี่ เบญจมาศ และสาลี่ที่เหมาะสมกับพื้นที่ และให้ผลผลิตสูง เกิดต้นแบบเครื่องหั่นใบชาแบบหยาบ แบบละเอียด เครื่องขึ้นรูปแป้งข้าวเกรียบ เครื่องนึ่งข้าวเกรียบกึ่งอัตโนมัติ พร้อมทั้งได้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพชนิดใหม่ ได้แก่ ผักเคลเสริมสารสกัดเมล็ดกาแฟเขียว สารสกัดบีทรูทผสมเสาวรส ชาสกัดเย็น และผลิตภัณฑ์จากกัญชง ด้านการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ มูลนิธิโครงการหลวงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงการส่งเสริมอาชีพเกษตร และนอกภาคเกษตร โดยความร่วมมือของหน่วยงานสนับสนุน ตั้งแต่การออกแบบและจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ จัดทำระบบส่งน้ำชลประทาน ออกแบบและก่อสร้างเส้นทางลำเลียงภูเขา สนับสนุนการพัฒนาอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี พัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย ปัจจุบันราษฎรในพื้นที่โครงการหลวง 39 แห่ง มีปัจจัยพื้นฐานที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว เฉลี่ย 188,339 บาท/ครัวเรือน/ปี จำนวนเกษตรกรมีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจน ร้อยละ 80 นอกจากนี้ โครงการหลวงยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังพื้นที่ปลูกฝิ่นและยาเสพติดครอบคลุมพื้นที่ 39 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง โดยความร่วมมือของ สำนักงาน ปปส. ส่งผลให้ไม่มีพื้นที่ปลูกฝิ่นในพื้นที่ดำเนินการของมูลนิธิโครงการหลวง และยังคงมีการสำรวจในทุกมิติเพื่อเฝ้าระวัง สร้างการรับรู้ในอันตรายจากฝิ่นอย่างต่อเนื่อง พร้อมวางกลไกการทำงานร่วมกันกับจังหวัด และอำเภอ เกิดแกนนำเยาวชน 50 คน ภายใต้โครงการวัคซีนวัยรุ่นโครงการหลวงป้องกันยาเสพติด และมีการพัฒนาทักษะชีวิตที่สองคล้องกับวิถีชีวิต พร้อมไปกับการบำบัดรักษา ติดตาม และช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติด เผยแพร่องค์ความรู้การพัฒนาทางเลือก และการป้องกันยาเสพติดของมูลนิธิโครงการหลวงไปในเวทีประชุมนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ในด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มีการสำรวจและจัดแบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างถูกต้อง ส่งเสริมการปลูกป่าแบบวนเกษตรภายใต้โครงการสวมหมวกให้ดอย สำหรับปีงบประมาณ 2567 มูลนิธิโครงการหลวงมีเป้าหมายเปิดตัวเป็นศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาพื้นที่สูง ที่ส่งประโยชน์ทั้งแก่ ชาวเขา ชาวเรา และชาวโลก โดยศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งแรกในรัชสมัย ซึ่งนำรูปแบบโครงการหลวงโมเดลเข้าไปพัฒนา ได้รับการส่งเสริมเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้งานโครงการหลวง ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ พื้นที่ท่องเที่ยวเรียนรู้ที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้ง ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ และเปิดพื้นที่การเรียนรู้ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนทั้งใน และนานาชาติ

 


 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ