การประชุมพิจารณากรอบและแนวทางการดำเนินงานความร่วมมือทางวิชาการกับประเทศภูฏาน

 22 ต.ค. 2566 13:03   


วันที่ 20 ตุลาคม 2566 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานการประชุมพิจารณากรอบ และแนวทางการดำเนินงานความร่วมมือทางวิชาการกับต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นไปตามพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวทางพัฒนาทางเลือกแบบโครงการหลวง ที่เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ ให้เกิดประโยชน์แก่ชาวโลก ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ จังหวัดเชียงใหม่

ด้วยผลสำเร็จของการพัฒนาพื้นที่สูงของโครงการหลวง เป็นที่ประจักษ์ชัดต่อนานาประเทศ ดังรางวัลแมกไซไซ ในสาขาสันติภาพ และความเข้าใจระหว่างประเทศ ที่ได้รับเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พุทธศักราช 2531 ซึ่งขณะนั้นโครงการหลวงมีสถานภาพเป็นโครงการส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และต่อมาในปีพุทธศักราช 2546 ได้รับรางวัลโคลอมโบแพลน จาก The Colombo Plan:Drug Advisory Program ในฐานะเป็นองค์กรเดียวของโลกที่แก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่นในเชิงสร้างสรรค์เป็นผลสำเร็จ ส่งผลให้การดำเนินงานในทศวรรษที่ 3 ถึง ทศวรรษ 4 เกิดเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาและแลกเปลี่ยนวิชาการกับนานาประเทศ โดยในปีพุทธศักราช 2544 สมเด็จพระราชาธิบดีจิ๊กมี่ เคเวอร์วังเกลนัมชุก ได้ทูลเชิญหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง เยือนราชอาณาจักรภูฏาน และในปีต่อมาโครงการหลวงได้ให้ความร่วมมือกับราชอาณาจักรภูฏาน โดยการส่งบุคลากรไปช่วยจัดทำแปลงวิจัยทดลองปลูกไม้ผลที่สถานีวิจัยยูสิปัง ปีพุทธศักราช 2555 ได้จัดตั้งโครงการหลวงของราชอาณาจักรภูฏาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรภูฏาน และยังดำเนินงานส่งเสริมการดูแลรักษาระบบนิเวศ และสุขอนามัยของชุมชน โดยกระทรวงเกษตรและป่าไม้ภูฏานเป็นหน่วยปฏิบัติงาน ในปีพุทธศักราช 2558 ได้มีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมูลนิธิโครงการหลวง และราชอาณาจักรภูฏานเป็นครั้งแรก กรอบความร่วมมือ ระยะที่ 1 ปีพุทธราช 2558-2562 โดยโครงการหลวงสนับสนุนการสาธิตเทคโนโลยีการผลิตไม้ดอก และพืชสวน รวมทั้งการแปรรูปผลผลิต และการตลาด การพัฒนาแผนผังภูมิทัศน์ จัดทำแปลงสาธิตในพื้นที่โครงการหลวงภูฏาน 2 แห่ง คือ เดเชนโชริง เมืองทิมพู และ ชิมิปัง เมืองพูนาคา พร้อมให้ความรู้ในแนวทางพัฒนาแบบโครงการหลวงแก่เจ้าหน้าที่ของราชอาณาจักรภูฏาน สนับสนุนต้นพันธุ์สตรอว์เบอร์รี พันธุ์พระราชทาน 72 และ 80 อาโวคาโด พันธุ์แฮส และพิงค์เคอร์ตัน จัดฝึกอบรมดูงานให้แก่เจ้าหน้าที่ภูฏานในพื้นที่โครงการหลวง อีกทั้งยังร่วมพัฒนาพื้นที่โครงการหลวงภูฏานให้เป็นศูนย์เรียนรู้ เป็นแหล่งพักผ่อนเชิงเกษตรแก่ประชาชนชาวภูฏาน ผลผลิตที่ได้จากแปลงสาธิตยังจำหน่ายภายในประเทศ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้บางส่วนอีกด้วย จากผลสำเร็จในระยะที่ 1 ทำให้เกิดการพัฒนาความร่วมมือระยะที่ 2 โดยในปีพุทธศักราช 2565 นักวิชาการโครงการหลวงเดินทางไปให้ความรู้ด้านการเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนแก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกรในฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาสเตอร์เจียน และเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและปศุสัตว์ภูฏานมาศึกษาเรียนรู้การเพาะพันธุ์ปลา ณ สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ และในปีพุทธศักราช 2567 นี้ โครงการหลวงได้นำกรอบความร่วมมือมาพิจารณา เพื่อปรับรายละเอียดของแผนความร่วมมือที่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน มุ่งสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้และการฝึกปฏิบัติ โดยจะนำร่องในพื้นที่ของเกษตรกรอาสาสมัครของราชอาณาจักรภูฏาน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่เกษตรกรรายอื่น ตามรูปแบบการพัฒนาของโครงการหลวงต่อไป

 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ