การประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำแผนปฏิบัติการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

 25 พ.ย. 2566 16:25   


วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำแผนปฏิบัติการของหน่วยงานในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีผู้แทนจากหน่วยงาน รวม 72 หน่วยงาน จาก 5 กระทรวง รวมทั้ง หัวหน้าสถานีเกษตรหลวง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง รวมทั้งบุคลากรของมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 450 คน

มูลนิธิโครงการหลวง มุ่งมั่นดำเนินงานสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดงานโครงการหลวงเพื่อพัฒนาพื้นที่สูง เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงก่อตั้งโครงการหลวงขึ้น ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2512 ในครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบนพื้นที่สูงทางภาคเหนือ ทรงทราบถึงปัญหาความยากจน การทำลายทรัพยากรธรรมชาติด้วยระบบการปลูกพืชที่ผิดวิธี อีกทั้งยังบั่นทอนความมั่นคงของประเทศ ในปี พ.ศ.2535จึงทรงมีพระราชดำรัสกับนายกรัฐมนตรีสมัยนั้นในการแก้ปัญหาบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลมีส่วนร่วม และผ่องถ่ายงานบางส่วนไปดำเนินการ โดยโครงการหลวงดำเนินการในลักษณะโครงการนำร่อง จึงเกิดการจัดตั้งหน่วยงานในระดับกองภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันคือ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีหน้าที่ในการสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการหลวง ขยายรูปแบบการพัฒนาทางเลือกแบบโครงการหลวงไปพัฒนายังพื้นที่สูงอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือ และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยราชการต่าง ๆ ในการพัฒนาพื้นที่สูง และร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีตามภาระหน้าที่ของหน่วยงาน เพื่อให้การใช้งบประมาณของรัฐคุ้มค่า ไม่ซ้ำซ้อน การพัฒนาพื้นที่สูงมีเป้าหมายเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอย่างถูกต้องทำให้ปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดนลดลง พื้นที่สูงมีระบบการปลูกพืชที่เหมาะสมเป็นระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำ คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน และมีฏหมายรองรับ การดำเนินงานยึดในหลักพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้แก่ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างสมดุลในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ช่วยเขาให้ช่วยตนเอง จนมาถึงในรัชสมัยของพระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานอย่างแน่วแน่ ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด เพื่อการพัฒนาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และสร้างประโยชน์ที่ดียิ่ง ๆ ขึ้น นำไปสู่ชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนอยู่ดีมีสุข การดำเนินการโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนนี้ ต้องสอดรับกับบริบทของชุมชนบนพื้นที่สูง รองรับความเปลี่ยนแปลงและการแปรปรวนของโลกในทุกมิติ มุ่งเน้นความคล่องตัว ตอบโจทย์ความต้องการ สามารถดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์



 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ