พิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟอะราบิกาบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน”

 19 ธ.ค. 2566 05:17   


วันที่ 18 ธันวาคม 2566 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานในการเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ International Workshop Programme The Sustainable Highland Arabica Coffee Industry Development “การพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟอะราบิกาบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน” ณ ห้องประชุม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ การอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นหลักสูตรที่ 2 ในจำนวน 5 หลักสูตรเรียนรู้งานโครงการหลวง เพื่อต่อยอดจากการนำเสนอรูปแบบการพัฒนาพื้นที่สูงของโครงการหลวงในเวทีการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติดสมัยที่ 66 ณ สาธารณรัฐออสเตรีย เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

 

โดยเปิดให้ผู้สนใจจากนานาประเทศได้ศึกษาเรียนรู้งานด้านต่าง ๆ ของโครงการหลวง โดยความร่วมมือของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และการสนับสนุนของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดระยะเวลาอบรมและศึกษาดูงานรวม 5 วัน ระหว่างวันที่ 18-22 ธันวาคม 2566 โดยมีผู้ร่วมอบรมจาก 9 ประเทศ ได้แก่ สหภาพเมียนมา จีน กัมพูชา เวียดนาม ราชอาณาจักรภูฏาน อินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 36 คน นอกจากการบรรยายโดยนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญกาแฟแล้ว คณะยังได้เดินทางไปเยี่ยมชมแปลงวิจัยสายพันธุ์กาแฟในพื้นที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ พร้อมพบปะพูดคุยกับเกษตรกรในแปลงปลูกกาแฟแบบผสมผสานในระบบอนุรักษ์ธรรมชาติ เยี่ยมชมธุรกิจกาแฟของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก หนึ่งในพื้นที่ปลูกกาแฟอะราบิกาคุณภาพของโครงการหลวง รวมทั้งฝึกปฏิบัติในกระบวนจัดการกาแฟหลังการเก็บเกี่ยว และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการปลูกกาแฟของแต่ละประเทศ

 

องคมนตรีได้กล่าวแก่ผู้รับการอบรมจากนานาชาติในพิธีเปิดการอบรมว่า จากการเสด็จพระดำเนินด้วยพระบาทไปเป็นระยะทางไกล ในปีพุทธศักราช 2517 เพื่อทอดพระเนตรต้นกาแฟอะราบิกาของเกษตรกรบ้านหนองหล่ม สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ได้นำมาสู่ความสำคัญของกาแฟอะราบิกาในประเทศไทย จนเป็นหนึ่งในพืชเศษฐกิจที่สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนบนพื้นที่สูง โครงการหลวงสามารถคัดเลือกสายพันธุ์กาแฟที่ให้ผลผลิตดี ต้านทานโรคราสนิม 4 สายพันธุ์ เกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 2,500 ราย ในพื้นที่กว่า 18,750 ไร่ ใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก และลำปาง ภายใต้ระบบการปลูกที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแบบร่มเงา (Shade Grown) ผสมผสานกับไม้ป่าและไม้ผลเศรษฐกิจ ควบคู่กับการสร้างป่าแบบวนเกษตร ทำให้มีผลผลิตกาแฟกะลากว่า 2000 ตัน/ปี คิดเป็นรายได้กว่า 500 ล้านบาท เมล็ดกาแฟคุณภาพที่ผ่านกระบวนการแปรรูปจากโรงงานของโครงการหลวง จำหน่ายไปทั่วประเทศและส่งผ่านบริษัทชั้นนำในวงการกาแฟของประเทศไทยมากมาย รวมทั้งยังขยายผลสำเร็จของงานวิจัยและพัฒนาไปสู่พื้นที่ส่งเสริมอื่น โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงอีก 34 แห่ง ใน 9 จังหวัด เกิดผลิตภัณฑ์กาแฟเฉพาะถิ่นโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สร้างความยั่งยืนในระดับภูมิภาคและระดับโลก













 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ