องคมนตรี เป็นประธานการประชุมมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนธันวาคม 2566

 23 ธ.ค. 2566 09:23   


วันที่ 22 ธันวาคม 2566 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนธันวาคม 2566 เพื่อรับฟังรายงานการดำเนินงานของหน่วยงานร่วมสนับสนุนโครงการหลวง โดยที่มูลนิธิโครงการหลวงขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ระยะ 5 ปี พ.ศ.2566-2570 ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และหน่วยงานสนับสนุนทั้งภาครัฐบาล และรัฐวิสาหกิจ โดยน้อมนำแนวทางพระราชทานเพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของคนบนพื้นที่สูง นำร่องการแก้ไขปัญหา เป็นต้นแบบการดำเนินงานให้แก่รัฐบาล สืบสาน รักษา และต่อยอดเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน สนองพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันพื้นที่พัฒนาครอบคลุมพื้นที่สูง 11 จังหวัด ประชากร 132,139 ครัวเรือน โดยมูลนิธิโครงการหลวงเป็นองค์กรหลักดำเนินงานในพื้นที่ 39 แห่ง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงนำแบบอย่างการพัฒนาของโครงการหลวงไปขยายผลปฏิบัติในพื้นที่สูงแห่งอื่นอีก 44 แห่ง พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้และขยายผลสำเร็จของโครงการหลวง ผ่านหลักสูตร “นักพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน” แก่หน่วยงานของภาครัฐ เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนตามแนวทางโครงการหลวง เป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบครบวงจร ในปี 2566 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงได้รับรางวัลจากคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ ได้แก่ รางวัลเลิศรัฐ สาขาบริหารราชการอย่างมีส่วนร่วม “คู่วิถีชุมชนอยู่ร่วมกับป่าสมบูรณ์ ตอบโจทย์พื้นที่สูง” ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่สูงโดยใช้โครงการหลวงโมเดล เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าโดยไม่บุกรุกทำลาย

  

ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน องคมนตรี ได้ตรวจเยี่ยมโรงงานผลิตภัณฑ์ชา ซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ โดยโครงการหลวงเริ่มศึกษาวิจัย และส่งเสริมการปลูกชามาตั้งแต่ พ.ศ. 2539 เป็นพืชทางเลือกแก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง โดยกระบวนการผลิตผ่านการรับรองมาตรฐานสากลทั้ง GAP และเกษตรอินทรีย์ ส่งผลให้ได้ชาคุณภาพ โรงงานผลิตภัณฑ์ชาโครงการหลวงแห่งนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 โดยนำชาแห้งของเกษตรกรในพื้นที่ 9 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชา 4 ประเภท ได้แก่ ชาแห้ง ผลิตภัณฑ์ชาบรรจุถุง ผลิตภัณฑ์ชาบรรจุกล่อง และผลิตภัณฑ์ชาพร้อมชง รวมทั้งยังศึกษาวิจัยชาสู่ต้นแบบผลิตภัณฑ์ อาทิ ชาสกัดเย็นพร้อมดื่ม ชาโครงการหลวงอัดแผ่นจาก 3 แหล่งปลูก ได้แก่ ชาห้วยน้ำขุ่น ชาแม่ปูนหลวง และชาแม่แพะ นอกจากจะได้รับประโยชน์เพื่อสุขภาพ ยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรให้มีอาชีพที่มั่นคง เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม และความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำควบคู่กันไปอีกด้วย


 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ