มูลนิธิโครงการหลวงจัดกิจกรรมเผยแพร่ผลสำเร็จของโครงการหลวง ในวาระครบรอบ 55 ปี ณ กรุงเบอร์ลิน

 21 ม.ค. 2567 12:51   


วันที่ 18 มกราคม 2567 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เลขาธิการมูลนิธิโครงการหลวง และคณะ ได้เดินทางไปยังกรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อจัดการสัมมนาเผยแพร่ผลสำเร็จของโครงการหลวง ณ ศูนย์แสดงสินค้า เมซเซ โดยมีบุคคลจากหน่วยงานต่าง ๆ ในกรุงเบอร์ลินร่วมรับฟัง

  

ด้วยมูลนิธิโครงการหลวงได้รับเชิญจากสถานเอกอัคราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน ให้เข้าร่วมในการประชุมอาหารและเกษตรโลก (GFFA) และงานแสดงสินค้า International Green Week 2024 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-28 มกราคม 2567 การร่วมกิจกรรมครั้งนี้ มูลนิธิโครงการหลวงได้จัดเป็นกิจกรรมคู่ขนานในรูปแบบการอภิปราย หัวข้อ “ผลการดำเนินงานที่มุ่งพัฒนาระบบการเกษตรที่สูง เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนในด้านอาหารและสิ่งแวดล้อม โดยโครงการหลวง 55 ปี” ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญเพื่อเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 และยังเป็นการเผยแพร่แนวทางการดำเนินงานแบบโครงการหลวง ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ต่อชาวโลก ในวาระครบรอบ 55 ปี ของโครงการหลวง โดยองคมนตรีได้ปาฐกถาในหัวข้อ รูปแบบการพัฒนาพื้นที่สูงโครงการหลวงสู่อนาคตที่ยั่งยืนด้านความปลอดภัยของอาหารและสิ่งแวดล้อม (The Royal Project Highland Development Model Contributing to the Future Sustainability on Food Security & the Environment) และยังมีเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเบอร์ลิน ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และเจ้าหน้าที่ร่วมการอภิปราย รวมทั้งผู้นำเกษตรกรชนเผ่าลาหู่ จากหมู่บ้านขอบด้ง สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ได้ไปถ่ายทอดเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงชีวิตของชาวลาหู่ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานความช่วยเหลือ จนมีกินมีใช้ มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเหมาะสมเช่นปัจจุบัน


องคมนตรีได้กล่าวแก่ผู้ร่วมการสัมมนาว่า จากอดีตประเทศไทย ประสบปัญหาพื้นที่ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร เสื่อมโทรมจากการบุกรุก เผาทำลาย เกิดผลกระทบต่อของประเทศ ภูมิภาค และของโลก โครงการหลวงจึงเป็นองค์กรแรกที่เข้าไปพัฒนาพื้นที่สูงอย่างจริงจัง ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อช่วยเหลือชุมชนชาวไทยภูเขา ด้วยหลักการพระราชทานในการพัฒนาทางเลือกบนพื้นที่สูง ที่ดำเนินงานมาตลอดรัชสมัย จนเกิดผลสำเร็จเชิงประจักษ์ ได้รับการยอมรับทั้งจากในประเทศและนานาชาติ โดยเฉพาะองค์การสหประชาชาติได้ถวายรางวัลในปี 2544 เมื่อเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ให้โครงการหลวงดำเนินการ สืบสาน รักษา ต่อยอด งานอย่างต่อเนื่อง พัฒนาให้ดีขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนบนพื้นที่สูง ประชาชนชาวไทย และประเทศชาติโดยรวม ขณะนี้เป็นเวลา 55 ปี แล้วที่โครงการหลวงดำเนินงานมุ่งสู่เป้าหมายสำคัญ ตามพระบรมราโชบายขององค์นายกกิตติมศักดิ์ทั้ง 2 พระองค์ นำมาสู่ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ ประชาชนบนพื้นที่สูงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถขจัดความยากจนและความหิวโหย เกิดความมั่นคงด้านอาหาร และการทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถขจัดการปลูกฝิ่นและพืชเสพติดในพื้นที่ 179 ตร.กม./200 ตัน ให้หมดไป โดย UNODC ได้ถอนชื่อประเทศไทยออกจากบัญชีประเทศผู้ผลิตฝิ่นในปี 2004 พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเพิ่มบทบาทของสตรี เด็ก และเยาวชนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น ชุมชนโครงการหลวงเป็นต้นแบบของชุมชนคาร์บอนต่ำ และการสร้างชุมชนเข้มแข็ง พื้นที่โครงการหลวงมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นตามลำดับ และส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน รวมทั้ง ประชาชนบนพื้นที่สูงมีรายได้พ้นเส้นความยากจน โดยมีรายได้เฉลี่ย 188,339 บาท /ครัวเรือน /ปี และสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งการปฏิบัติตามรูปแบบการพัฒนาทางเลือกในการแก้ไขปัญหาบนพื้นที่สูง อย่างสันติและยั่งยืน ต่อยอดในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งหลายประเทศยังได้นำแนวทางไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่จริง ปัจจุบัน โครงการหลวงยังคงศึกษาวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและภูมิสังคมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้นโยบายเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เพื่อความยั่งยืนด้านการเกษตร รองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก รวมทั้งยังได้เผยแพร่องค์ความรู้ การพัฒนาทางเลือกบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนแบบโครงการหลวง ให้เกิดประโยชน์แก่ปวงประชาชาวไทยและชาวโลกอย่างยั่งยืน ภายใต้การเป็นศูนย์การเรียนรู้ หลังจากการอภิปรายคณะผู้เข้าร่วมรับฟัง ยังได้ชมและชิมกาแฟและชา ตัวอย่างของผลผลิตส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรที่มีระบบการปลูกภายใต้ระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผสมผสานกับพืชท้องถิ่นภายใต้ร่มเงาของไม้ยืนต้นธรรมชาติ

 

 

 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ