องคมนตรีประชุมติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนเมษายน 2564

 08 เม.ย. 2564 14:40   

วันที่ 8 เมษายน 2564 นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง และ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมประชุมติดตามงานของมูลนิธิโครงการหลวงประจำเดือนเมษายน 2564 ณ ห้องราชพฤกษ์ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างมูลนิธิโครงการหลวงและหน่วยงานต่าง ๆ


การประชุมในวันนี้ได้มีการรายงานแผนการติดตามงานวิจัยที่ดำเนินงานโดยทุนวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวงเอง จำนวน 50 โครงการ โดยการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัย และองค์กรด้านการวิจัย จำนวน 36 ท่าน รวม 13 สาขา เพื่อติดตาม ร่วมประเมินผล และให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์กับงานวิจัย ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ และนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง โดยที่ปัจจุบันเป็นยุคที่มีเทคโนโลยีเพื่อสร้างความสะดวกสบายและความรวดเร็ว ประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 มูลนิธิโครงการหลวงจึงได้พัฒนาแอพลิเคชั่นสำหรับจัดการศัตรูพืชบนพื้นที่สูง ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่รับผิดชอบได้ใช้ประโยชน์เพื่อควบคุมโรคและแมลง ได้รับความรู้ในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกวิธี รวมทั้งยังมีข้อแนะนำการใช้สารชีวภัณฑ์ และสามารถคำนวณระยะปลอดภัยในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งแอพลิเคชั่นนี้ยังสามารถให้เกษตรกรได้รายงานปัญหาพี่พบแก่นักวิชาการส่วนกลาง เพื่อบันทึกตำแหน่งการเกิดโรค และระดับความรุนแรง ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที โดยในปีที่ผ่านมาเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวงดาวน์โหลดเพื่อใช้งานบนสมาร์ทโฟน ระบบ Android จำนวนกว่า 300 ราย สำหรับในปีนี้ได้จัดอบรมวิธีการใช้งานแก่เกษตรกรในพื้นที่ 39 สถานีเกษตรหลวงและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอีก 9,000 คน และอยู่ระหว่างการพัฒนาให้สามารถใช้ในระปฏิบัติการ IOS ได้ พร้อมทั้งมีแผนงานถ่ายทอดไปยังเกษตรกรในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ที่ดำเนินงานโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง หรือ สวพส. อีก 44 แห่ง ในพื้นที่ 7 จังหวัด โดยการดำเนินงานในระยะ 12 ปี ที่ผ่านมาของ สวพส. ได้มุ่งคัดเลือกพันธุ์พืชอาหารและพืชท้องถิ่น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร การวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ รวมทั้งพืชท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้ โดยได้พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ รวม 98 พันธุ์ อาทิ พันธุ์ข้าวท้องถิ่นที่มีคุณค่าทางอาหารสูง พันธุ์กาแฟอาราบิกา ผัก และไม้ดอกต่าง ๆ รวมทั้ง กัญชง หรือ เฮมพ์ ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นบนพื้นที่สูงที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต

  

แต่ยังติดปัญหาด้านกฎหมาย และในประเทศไทยยังไม่มีพันธุ์ที่มีสารเสพติดต่ำ โดย สวพส. ได้ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง พัฒนาพันธุ์เฮมพ์ที่มีสาร THC ต่ำกว่า 0.3% และมีเปอร์เซ็นต์เส้นใย 13-14% จำนวน 4 พันธุ์, พันธุ์เฮมพ์ที่มีสาร THC ต่ำ และมีเปอร์เซ็นต์เส้นใยสูงกว่า 20% จำนวน 4 พันธุ์ และ พันธุ์ที่มีสาร CBD สูง 10% จำนวน 1 พันธุ์ โดยเกษตรกรจำนวน 86 ราย ได้ผลิตเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ผลิต 119 ไร่ ได้เมล็ดพันธุ์ จำนวน 1,500 กิโลกรัม เพื่อนำไปใช้ในครัวเรือนและขยายการผลิตเมล็ดพันธุ์ต่อไป นอกจากนี้ยังพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในชุมชนในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง และพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงที่ต้องการแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร โดยดำเนินกิจกรรมสร้างและซ่อมแซมฝายชะลอน้ำ ท่อกระจายน้ำ บ่อพวง และถังเก็บน้ำคอนกรีต ควบคู่กับไปกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สนับสนุนการปลูกป่าชาวบ้านเพื่อใช้สอยในครัวเรือน การทำแนวป้องกันไฟป่า โดยดำเนินการภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนและการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในท้ายการประชุมองคมนตรีได้ขอบคุณหน่วยงานที่ร่วมประสานความร่วมมือในการนำพาโครงการหลวงไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาบนพื้นที่สูง สร้างประโยชน์แก่ประชาชนทั้งชาวเขา ชาวเรา และชาวโลก อย่างสูงสุด

การใช้ประโยชน์แอปพลิเคชัน“การจัดการศัตรูพืชบนพื้นที่สูง”

จุดเด่น: บอกโรคและแมลงศัตรูพืชและการป้องกันกำจัด แนะนำรายการสารกำจัดศัตรูพืชที่อนุญาตให้ใช้ในมูลนิธิฯ

คำนวณระยะปลอดภัยในการเก็บเกี่ยวผลผลิต หลังพ่นสารเคมี รายงานปัญหาที่พบในพื้นที่มูลนิธิโครงการหลวง ฐานขอมูลศัตรูพืช สารเคมีและสารปลอดภัย


 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ