องคมนตรีประชุมติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนเมษายน 2565

 11 เม.ย. 2565 09:12   



วันที่ 8 เมษายน 2565 เวลา 09.00 น. พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานการประชุมมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนเมษายน 2565 ณ ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการ 1 ชั้น 2 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ โดยองคมนตรีได้กล่าวแก่ที่ประชุมว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจตามนโยบายของมูลนิธิโครงการหลวง โดยเฉพาะการปฏิบัติงานทั้งด้านการวิจัย พัฒนา และการส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรในพื้นที่สถานีวิจัยเกษตรหลวงและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงซึ่งเป็นหน่วยสำคัญในการนำแผนและนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม สนองตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบพิตรบรมนาถ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและความมั่นคงของประเทศชาติ


การดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวงภายใต้แผนยุทธศาสตร์ ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2562-2565) เป้าหมายสำคัญ คือ การมุ่งวิจัยและพัฒนาเพื่อความอยู่ดี กินดีของชุมชนพื้นที่สูง เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ราบ โดยได้วางแผนนำองค์ความรู้จากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ส่งเสริมเกษตรกร สร้างพันธุ์พืชคุณภาพที่เหมาะสมกับพื้นที่สูง ในปีนี้รวม 16 ชนิด เกิดนวัตกรรมใหม่ 5 เครื่องต้นแบบ 1 ต้นแบบชีวภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์แปรรูปใหม่อีก 15 ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 2 ชุดข้อมูล ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์จากกัญชง และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไม้ผล พืชไร่ รวมทั้งเกิดองค์ความรู้และการเผยแพร่ผลงานในด้านการใช้สารกำจัดวัชพืช การผลิตสูตรอาหารสัตว์ 2 สูตร และวิธีการพัฒนารวม 20 เรื่อง รวมทั้งได้คัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จจากงานวิจัย ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบทดสอบตลาดเชิงพาณิชย์ จำนวน 5 รายการ ได้แก่ กาแฟโครงการหลวงผสมธัญพืช ชาไทยพร้อมดื่มชนิดผงชงละลาย น้ำเสาวรสเพิ่มวุ้นแบคทีเรียเซลลูโลสจากกัญชง สเปรดควินัวอัลมอนด์ และผลิตภัณฑ์ชนิดนุ่ม รสกาแฟ ชาไทย และเสาวรส ในการผลิตพืชโครงการหลวงส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์และสารปลอดภัยในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช เฉพาะในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการนำไปใช้ในพื้นที่ดำเนินงาน 39 แห่ง ใน 6 จังหวัดภาคเหนือ รวมกว่า 55,000 หน่วย และมีปริมาณการใช้สะสมในรอบ 6 เดือน รวมกว่า 144,000 หน่วย ซึ่งเกินประมาณการของแผนที่ตั้งไว้ และจากการที่มูลนิธิโครงการหลวง ได้เริ่มการพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากมหาวิทยาลัย 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ภายใต้การดำเนินงานใน 3 มิติ ได้แก่ มิติเศรษฐกิจ ดำเนินการสำรวจศึกษาความต้องการการใช้ข้อมูลมีแผนการดำเนินงานสำรวจและศึกษาระบบฐานข้อมูลในกลุ่มการตลาด เชื่อมโยงสู่แผนการผลิต พัฒนาระบบบูรณาการข้อมูล ระบบวิเคราะห์ข้อมูล มิติสังคม นำข้อมูลประชากรเข้าสู่ระบบสำเร็จแล้ว 411 ครัวเรือน จากแผน 718 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 57.24 ออกแบบระบบสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์สำหรับข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งออกแบบและปรับปรุง Relational Model มิติสิ่งแวดล้อม เก็บข้อมูลแปลงของเกษตรกร การวิเคราะห์ดิน และขอบเขตพื้นที่ป่า โดยข้อมูลที่ได้จะนำมาประมวลผลเพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจการพัฒนาของมูลนิธิโครงการหลวงและการพัฒนาพื้นที่สูงต่อไป


ในบ่ายวันเดียวกัน องคมนตรีได้เดินทางไปติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างในพื้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ โดยมีความคืบหน้าการดำเนินการที่แล้วเสร็จ ได้แก่ ระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ใช้ประโยชน์มูลนิธิโครงการหลวง และการก่อสร้างที่เกือบจะสมบูรณ์ ได้แก่ อาคารโรงสีข้าวกล้อง และธัญพืช โรงเก็บกาแฟกะลา โรงชีวภัณฑ์ โรงอาหารและห้องซักผ้าศูนย์ผลิตผลโครงการหลวง โรงปุ๋ยอินทรีย์น้ำและโรงเพาะชำ โรงเรือนเพาะชำแผนกเทคโนโลยี ชีวภาพทางด้านพืช โดยการสนับสนุนจากกองพลพัฒนาที่ 3 กองทัพภาคที่ 3



 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ