มูลนิธิโครงการหลวงประชุมติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือน กันยายน 2565

 18 ก.ย. 2565 22:21   


 วันที่ 15 กันยายน 2565 เวลา 09.00 น. พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานการประชุมมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนกันยายน 2565 ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารปฏิบัติการ 1 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ จ.เชียงใหม่ ร่วมกับการประชุมผ่านสื่ออิเลคทรอนิกส์ เพื่อรับฟังการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ได้รายงานการคาดหมายลักษณะอากาศ ปีนี้มีความแปรปรวน และมีฝนตกชุกมากกว่าทุกปี โดยครึ่งหลังของเดือนกันยายน ภาคเหนือยังคงมีปริมาณฝนมาก อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง เมื่อเข้าถึงเดือนตุลาคม ลักษณะอากาศยังคงแปรปรวน ประกอบกับเป็นช่วงเปลี่ยนฤดู จะทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ และเริ่มมีอากาศเย็น มีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราน้ำค้าง โรคราแป้ง โรคใบจุด โรคใบไหม้ รวมทั้งแมลงกลุ่มหนอนกัดใบ เช่น หนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก และหนอนเจาะสมอฝ้าย

 

ในการดำเนินการพัฒนาพื้นที่สูงตามแนวทางพระราชทานสิ่งสำคัญคือ การนำผลสำเร็จจากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยปีงบประมาณ 2566 มูลนิธิโครงการหลวงเตรียมนำผลสำเร็จจากงานวิจัยถ่ายทอดไปสู่เกษตรกร อาทิ กลุ่มพืชไร่ ได้แก่ ควินัวพันธุ์นิลเกษตรหลวง และพันธุ์โกเมนเกษตรหลวง กลุ่มไม้ดอก ได้แก่ ดอกปทุมมา มาลีรัตน์ คัลล่าลิลลี่ กลอลิโอซา บัวดิน และเฟิน พืชผัก ผลไม้ ได้แก่ อาบิว ฝรั่งเนื้อแดง ทับทิมเมล็ดนิ่ม องุ่นไซน์มัสแคท รวมทั้งนำนวัตกรรม และกลุ่มชีวภัณฑ์ไปขยายผลแก่เกษตรกรเพิ่มขึ้น ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 16 แห่ง อาทิ เครื่องให้ปุ๋ยและน้ำ เครื่องผสมสารละลายควบคุมสีดอก กับดักเเมลงวันผลไม้พร้อมระบบตรวจนับกึ่งอัตโนมัติชีวภัณฑ์แบคทีเรียทนร้อน โดยมีศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโครงการหลวง ร่วมพัฒนาด้านระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ การอบรมหมอดินอาสา ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ การส่งเสริมการผลิตและใช้สารอินทรีย์ จัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ฟื้นฟูและป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ สนับสนุนการจัดเวทีให้ความรู้สวัสดิการสังคมด้านสุขภาพอนามัยและกลไกขับเคลื่อนการจัดสวัสดิการสังคมในชุมชน สนับสนุนโครงการพัฒนาทักษะกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้ร่วมดำเนินงานในโครงการสร้างความร่วมมือกับชุมชนไม่ให้ปลูกฝิ่น จัดการสำรวจและเฝ้าระวังในพื้นที่สุ่มเสี่ยง ขณะนี้ไม่พบพื้นที่ปลูกฝิ่น พัฒนาแกนนำเยาวชนควบคู่ไปกับการต่อยอดโครงการวัคซีนวัยรุ่น เพื่อป้องกันเยาวชนจากยาเสพติด สนับสนุนทุนประกอบอาชีพเพื่อช่วยเหลือผู้บำบัด จากเดิมมีจำนวน 7 ราย ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ แม่แฮ และแม่สะป๊อก ผลการติดตามพบว่าทั้ง 7 ราย ไม่พบสารเสพติดในร่างกาย สามารถประกอบอาชีพและไม่กลับไปหายาเสพติด ประกอบอาชีพได้ดีเป็นแบบอย่าง ดังนั้นในปี 2566 จะเสนอทุนเพิ่มอีก 5-10 ราย ตามความพร้อม

 

นอกจากนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงเตรียมสอดรับแผนงานสนับสนุนการขับเคลื่อนและเผยแพร่แนวทางการพัฒนาของโครงการหลวงในระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งสนับสนุนด้านการวิจัย การผลิตพืชแบบประณีต การส่งเสริมอาชีพ ถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเรียนรู้พืชต่าง ๆ รณรงค์การลดใช้สารเคมี เฝ้าระวังการปนเปื้อน เสริมสร้างบทบาทสตรี พัฒนาศักยภาพเยาวชน สร้างชุมชนเข้มแข็ง และงานที่สำคัญคือ การต่อยอดการพัฒนากัญชงเพื่อประโยชน์เส้นใย โดยโครงการหลวงได้มีต้นแบบผลิตภัณฑ์กัญชงที่ได้จากการประกวดออกแบบโดยนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ขณะนี้ได้จัดเตรียมกลุ่มสตรีตัดเย็บเพื่อเปิดรับในรูปแบบพรีออเดอร์ จากพื้นที่กลุ่มศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า แม่สาใหม่ หนองเขียว กลุ่มทอเส้นใยกัญชงโดยใช้ลวดลายของชนเผ่าด้วยกี่เมือง อีก 3 พื้นที่ ได้แก่ สถานีฯ ปางดะ ศูนย์ฯ หมอกจ๋าม ศูนย์ฯ ห้วยแล้ง ในปี 2566 มีแผนผลิตเมล็ดพันธุ์กัญชงตามมาตรฐาน GAP พื้นที่ผลิตรวม 146 ไร่ เกษตรกร 71 ราย ผลิตเมล็ดพันธุ์กัญชงอินทรีย์ พื้นที่ 8.28 ไร่ เกษตรกร 6 ราย และผลิตเส้นใยกัญชง ในพื้นที่ 26.7 ไร่ เกษตรกร จำนวน 19 ราย นอกจากนี้มูลนิธิโครงการหลวงยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปที่เตรียมขยายสู่การทดลองตลาด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ชา ผลิตภัณฑ์กาแฟโครงการหลวงชนิดผสม ชาไทยผงชงละลาย วุ้นแบคทีเรียเซลลูโลส ควินัวสเปรด และยังได้วิจัยการพัฒนากระบวนการแปรรูป พลับหมาด เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่เกษตรกร โดยอาจารย์จากคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ภายใต้การสนับสนุนงบการวิจัยของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)


 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ