องคมนตรีร่วมประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองและขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ครั้งที่ 5/2566

 23 ก.พ. 2566 02:59   


องคมนตรีร่วมประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองและขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ครั้งที่ 5/2566 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง และ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองและขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ครั้งที่ 5/2566 ณ ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการ 1 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

 

การประชุมครั้งนี้ องคมนตรีได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชประสงค์ช่วยเหลือชุมชนชาวปกาเกอะญอที่มีความยากลำบาก ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ การดำเนินการพัฒนาปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและสนับสนุนการเกษตร ได้แก่ เส้นทางคมนาคม การพัฒนาแหล่งน้ำ การขยายเขตไฟฟ้าไปยังพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ รวมทั้งระบบการติดต่อสื่อสารเชื่อมต่อกับโลกภายนอก เป็นพระราชประสงค์สำคัญเพื่อให้ประชาชนที่ขาดแคลนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ไม่หวนกลับไปทำอาชีพผิดกฎหมาย เป็นการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผลงานเห็นเป็นที่ประจักษ์ในระยะการดำเนินการ 6 ปี ในการพัฒนาชุมชนของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ โครงการหลวงลำดับที่ 39 แห่งแรกในรัชสมัยปัจจุบัน นอกจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากอาชีพ ปลูกพืชผัก ผลไม้ พืชไร่ และกาแฟ ภายใต้มาตรฐานอาหารปลอดภัยแล้ว ชุมชนยังได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาระบบการผลิตพืชอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้รับการสนับสนุนในกิจกรรมการมีส่วนร่วม ส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ โดยที่ผ่านมาได้มีการนำสมาชิกในชุมชนไปศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้กับชุมชนในพื้นที่ส่งเสริมแห่งอื่น ๆ ของโครงการหลวง อาทิ การนำกลุ่มผ้าทอย้อมสีธรรมชาติบ้านเลอตอ ไปศึกษาดูงานหัตถกรรมของกลุ่มทอผ้าบ้านพระบาทห้วยต้ม ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน การจัดอบรมจักสานตะกร้าแก่นักเรียนศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนออมสินอุปถัมภ์ รวมทั้งเตรียมการจัดกีฬาต้านยาเสพติด เพื่อให้กีฬาเป็นสื่อสร้างความสัมพันธ์เครือข่ายเยาวชน และส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ห่างไกลจากยาเสพติด


ในการผลักดันสู่ความสำเร็จของการพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบโครงการหลวง การวิจัยและพัฒนาต่อยอดผลผลิตเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นอีกหนึ่งหลักการสำคัญ โดยที่ “ชา” เป็นพืชเครื่องดื่มสุขภาพที่ทั่วโลกยอมรับ และมีความนิยมเป็นลำดับ 2 รองลงมาจากน้ำเปล่า โครงการหลวงได้เริ่มดำเนินงานวิจัยและส่งเสริมการปลูกชา ตั้งแต่ พ.ศ.2538 เป็นพืชทางเลือกทดแทนฝิ่น และการทำไร่เลื่อนลอย โดยคัดเลือกสายพันธุ์ชาที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ รวม 2 สายพันธุ์ คือ 1) พันธุ์หย่วนจืออู่หลง ก้านอ่อน ลักษณะใบเล็ก สีเขียวเข้ม ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย เป็นพันธุ์ที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ จึงนิยมนำมาแปรรูปเป็นชาอู่หลง และ 2) พันธุ์ชิงชิงอู่หลง เบอร์ 12 ลำต้นสูงใหญ่ กิ่งก้านยาว ลักษณะใบกว้าง ขอบใบหยัก และหยาบ เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ทนทานต่อโรคและแมลงมากกว่าพันธุ์หย่วนจืออู่หลง เหมาะต่อการแปรรูปเป็นชาเขียว และชาแดง ต่อมาตั้งแต่ พ.ศ.2558 โครงการหลวงได้ช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกชาอัสสัม หรือชาเมี่ยง ซึ่งขณะนั้นมีราคาตกต่ำ โดยวิจัยและส่งเสริมการแปรรูปชาอัสสัมเป็นผลิตภัณฑ์ชาประเภทต่างๆ เช่น ชาขาว ชาเขียว และชาแดง ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และยังเป็นส่วนสำคัญในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ

 

ปัจจุบัน โครงการหลวงยังคงมีการวิจัย และส่งเสริม ทั้งการปลูก แปรรูป และบริหารจัดการการตลาดชาอย่างต่อเนื่อง มีพื้นที่ส่งเสริม จำนวน 10 แห่ง ในจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย รวม 895 ไร่ ได้รับการรับรองแหล่งเพาะปลูกภายใต้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และมาตรฐานอาหารปลอดภัย เกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริม 317 ราย กำลังการผลิตยอดชาสดสูงสุด ทั้งชากลุ่มสายพันธุ์จีน และชาอัสสัม ผ่านการเก็บยอดชาด้วยมือ 1 ยอด 2 ใบอ่อน รวม 99.8 ตัน/ปี สร้างรายได้ในปีที่ผ่านมาเป็นมูลค่ารวม 7.1 ล้านบาท

 


 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ