องค์ความรู้โครงการหลวง

หมวดหมู่
ชีวภัณฑ์จัดการศัตรูพืช เพื่อผลิตผลปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

หมวดหมู่: อารักขาพืช/ชีวภัณฑ์

ชีวภัณฑ์จัดการศัตรูพืช เพื่อผลิตผลปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ชีวภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ผลิตหรือพัฒนามาจากสิ่งมีชีวิต เช่น จุลินทรีย์ ชีวภัณฑ์มีความปลอดภัยสูงต่อคน มีความเฉพาะเจาะจงต่อศัตรูพืช อีกทั้งชีวภัณฑ์บางชนิดสามารถอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมทั่วไปในธรรมชาติ มูลนิธิโครงการหลวง ส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจเมืองหนาวภายใต้ระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์และเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) โดยให้ความสำคัญกับหลักการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) เน้นการใช้ชีวภัณฑ์และสารทดแทนสารเคมีเกษตรที่มีความปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกษตรกรทั่วไปสามารถนำชีวภัณฑ์ไปใช้ได้อย่างแพร่หลายและถูกต้องตามกฎหมาย มูลนิธิโครงการหลวงจึงขอรับรองการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายต่อสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร (สคว.) กรมวิชาการเกษตร ปัจจุบัน ชีวภัณฑ์ของมูลนิธิโครงการหลวง ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ จากทั้งหมด 13 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ฟีโรด้วงหมัดผัก ฟีโรแมลงวันแตง (คิวลัว) ไตรโค- อาร์ (เชื้อราไตรโคเดอร์มา แอสเพอร์เรียลลัม) บี10-อาร์ (เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส อะไมโลลิควิเฟเซียนส์) และเบ็บ-อาร์ (เชื้อราบิวเวอเรีย บัสเซียน่า) ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายของมูลนิธิโครงการหลวง 5 ผลิตภัณฑ์ ประเภทสารล่อแมลง 1. ฟีโรด้วงหมัดผัก ชื่อสามัญ: อัลลิล ไอโซไทโอไซยาเนต ประโยชน์/วิธีใช้: ใช้ดึงดูดด้วงหมัดผักในผักกาดขาวปลี 2. ฟีโรแมลงวันแตง ชื่อสามัญ: คิวลัว ประโยชน์/วิธีใช้: ใช้ล่อแมลงวันแตงในซูกินี ประเภทชีวภัณฑ์ 3. บี ๑๐-อาร์ ชื่อสามัญ: บาซิลลัส อะไมโลลิควิเฟเซียนส์ ประโยชน์/วิธีใช้: ใช้ป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวเขียว (bacterial wilt) ในมะเขือเทศ ที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum 4. เบ็บ-อาร์ ชื่อสามัญ: บิวเวอเรีย บัสเซียน่า ประโยชน์/วิธีใช้: ใช้ป้องกันกำจัดมอดเจาะผลกาแฟในกาแฟ 5. ไตรโค-อาร์ ชื่อสามัญ: ไตรโคเดอร์มา แอสเพอร์เรียลลัม ประโยชน์/วิธีใช้: ใช้ป้องกันโรคใบจุด (leaf spot) ในมะเขือเทศ ที่มีสาเหตุจากเชื้อรา Alternaria solani สำหรับเกษตรกรภายนอกและผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อสั่งซื้อและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โรงชีวภัณฑ์มูลนิธิโครงการหลวง ตั้งอยู่ภายในบริเวณศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เบอร์ติดต่อ: 053-114218 LINE ID: biocontrol2022 โดยสามารถเพิ่มเพื่อนได้ทันทีเมื่อคลิก LINE ID หรือสแกน QR CODE

 อ่านเพิ่มเติม...

ไม้ดอกประเภทหัว ดอกไม้สวย ...บนดอยสูง

หมวดหมู่: ไม้ดอกและไม้กระถาง

ไม้ดอกประเภทหัว ดอกไม้สวย ...บนดอยสูง

โดย ดร.ประภัสสร อารยะกิจเจริญชัย ตำแหน่งนักวิชาการงานวิจัยและพัฒนาไม้ดอก ฝ่ายงานวิจัยและพัฒนา เมื่อกล่าวถึง ดอกไม้โครงการหลวง แน่นอนว่าหลายๆ คน คงนึกถึงดอกไม้เมืองหนาวจากต่างประเทศนานาชนิด ที่มีสีสันสวยงาม และรูปลักษณ์แปลกตา ดอกไม้ที่หลายๆ คนรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นกุหลาบ เบญจมาศ ไฮเดรนเยีย เจอบีร่า หรือจิ๊ปซอฟฟิล่า แต่ก็มีดอกไม้อีกกลุ่มหนึ่งที่มีรูปลักษณ์ที่แปลกตา สีสันสดใสสวยงาม ไม่ค่อยพบเห็นปลูกกันทั่วไป อาทิเช่น กลอริโอซา(ดองดึง) แคลล่าลิลี่ ปักษาสวรรค์ ว่านสี่ทิศ ยูโคมิส ลิอะทริส ทิวลิป แดฟโฟดิว อะกาแพนทัส อัลสโตรมีเรีย และออนิโทกาลัม เป็นต้น ดอกไม้เหล่านี้ถ้ามองเพียงรูปลักษณ์ที่ปรากฏ ก็อาจจะดูไม่แตกต่างจากดอกไม้ทั่วไปมากนัก แต่จะมีใครรู้บ้างว่า ดอกไม้เหล่านี้มีความพิเศษแตกต่างจากดอกไม้ทั่วไป ตรงที่มี “หัว” หน้าตาแปลกๆ แตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของดอกไม้ ซ่อนอยู่ใต้ดิน แล้วหัวเหล่านี้มีความสำคัญยังไง พิเศษตรงไหน เรามาทำความรู้จักไม้ดอกประเภทหัวเหล่านี้กันเถอะ ไม้ดอกประเภทหัว เป็นกลุ่มไม้ดอกที่แยกออกมาจากไม้ดอกโดยทั่วไป มีทั้งพวกที่เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวและพืชใบเลี้ยงคู่ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว โดยใช้ความแตกต่างในลักษณะของโครงสร้างของต้นพืชและลักษณะของการเจริญเติบโตมาแยกกลุ่ม ส่วนในด้านของลักษณะการใช้ประโยชน์นั้นเหมือนกันกับไม้ดอกโดยทั่วไป คือ ใช้ได้ทั้งเป็นไม้ตัดดอก ไม้กระถาง และไม้สนาม โครงสร้างของไม้ดอกประเภทหัว แตกต่างจากไม้ดอกโดยทั่วไป ตรงที่มีอวัยวะเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งอย่าง คือ “หัว” ซึ่งเป็นอวัยวะที่ต้นพืชสร้างขึ้น เพื่อเก็บสะสมอาหารและน้ำสำหรับการเจริญเติบโตในฤดูกาลใหม่ หัว ของไม้ดอกประเภทหัว เป็นโครงสร้างที่แปรรูปมาจากส่วนโคนของลำต้นใต้ดินหรือราก ไม้ดอกประเภทหัวบางชนิดนั้นส่วนที่แปรรูปไปเป็นหัวมีโคนใบแปรรูปเป็นส่วนประกอบด้วย ดังนั้นจึงแบ่งชนิดของหัวเหล่านั้นตามโครงสร้างของส่วนแปรรูปดังกล่าวออกได้เป็น 5 ชนิด ดังนี้ 1. Bulb หรือ True bulb ส่วนที่เรียกว่าหัวเป็นส่วนโคนใบที่โป่งพองออกเพื่อสะสมอาหาร มีลักษณะเหมือนหัวหอมและหัวกระทียม ไม้ดอกที่มีหัวแบบนี้ ได้แก่ ออนิโทกาลัม (Ornithogalum) ว่านสี่ทิศ (Hippeastrum) และลิลลี่ (Lilium) เป็นต้น 2. Tuber เป็นส่วนลำต้นสะสมอาหารใต้ดิน มีตาเห็นได้ชัดเจน มีลักษณะกลม กลมรี หรือกลมแบน เหมือนหัวมันฝรั่ง และหัวบุก ไม้ดอกที่มีหัวแบบนี้ ได้แก่ ซ่อนกลิ่น (Polianthes) บอนสี (Caladium) ไซคลาเมน (Cyclamen) และบีโกเนีย (Begonia) เป็นต้น 3. Corm เป็นส่วนของลำต้น มีลักษณะกลม เห็นส่วนที่เป็นข้อและปล้องชัดเจน เหมือนหัวแห้วและหัวเผือก ไม้ดอกที่มีหัวแบบนี้ ได้แก่ แกลดิโอลัส (Gladiolus) และฟรีเซีย (Freesia) เป็นต้น 4. Rhizome เป็นลำต้นที่เจริญขนานไปกับผิวดิน มีข้อปล้อง เรียกว่า เหง้า ที่แตกสาขาได้เหมือนแง่งขิงและข่า และในบางพืชมีส่วนของโคนรากแปรรูปมาประกอบด้วย (Tuberous rhizome) เหมือนเหง้ากระชาย ไม้ดอกที่มีหัวแบบนี้ ได้แก่ แคลล่าลิลี่ (Zanthedeschia) ปทุมมา (Curcuma) และหงส์เหิน (Globba) เป็นต้น 5. Tuberous root เป็นส่วนของรากสะสมอาหารที่มีลักษณะกลมป้อม หรือยาวรี อาจจะเป็นหัวเดี่ยวเหมือนหัวแครอท และหัวไชเท้า หรือเป็นหัวกระจุกเหมือนหัวดอกรักเร่ (Dahlia) ไม้ดอกที่มีหัวแบบนี้ ได้แก่ ดองดึง (Gloriosa) และอัลสโตรมีเรีย (Alstroemeria) เป็นต้น ลักษณะการเจริญเติบโต ไม้ดอกประเภทหัวมีลักษณะการเจริญเติบโตแตกต่างจากไม้ดอกโดยทั่วไป ตรงที่มีการเจริญเติบโตเป็นวงจร นั่นคือ ใน 1 ปีมี 1 วงจรการเจริญเติบโต การเจริญเติบโตในแต่ละวงจรนั้นประกอบด้วยการเจริญเติบโตของต้น (Vegetative Growth) และดอก (Reproductive Growth) สลับกับการพักตัวของหัว (Dormancy) โดยทั่วไปใน 1 ปี จะมีการเจริญเติบโตของต้น หัว และดอก เป็นเวลา 8-9 เดือน หลังจากนั้นหัวจะพักตัว 3-4 เดือน เป็นวัฎจักร ในลักษณะของพืชล้มลุกหลายฤดู (herbaceous perennial) วงจรการเจริญเติบโตของทิวลิป การปลูกเลี้ยง ไม้ดอกประเภทหัวมีมากมายหลายชนิด มีทั้งไม้ดอกประเภทหัวเขตหนาว (temperate flower bulbs) และไม้ดอกประเภทหัวเขตร้อน (tropical flower bulbs) แต่เนื่องจากในเขตหนาวมีการใช้ประโยชน์ไม้ดอกประเภทหัวมาเป็นเวลานานและใช้กันอย่างกว้างขวาง ไม้ดอกประเภทหัวเขตหนาวจึงเป็นที่รู้จักมากกว่าไม้ดอกประเภทหัวเขตร้อน ไม้ดอกเหล่านั้นได้แก่ ทิวลิป (Tulipa) นาร์ซิสซัส (Narcissus) ลิลลี่ (Lilium) อัลสโตรมีเรีย (Alstroemeria) ไอริส (Iris) ออนิโทกาลัม (Ornithogalum) ลิอะทริส (Liatris) ฟรีเซีย (Freesia) แกลดิโอลัส (Gladiolus) ไซคลาเมน (Cyclamen) และว่านสี่ทิศ (Hippeastrum) เป็นต้น ส่วนไม้ดอกประเภทหัวเขตร้อนนั้นยังรู้จักและใช้ประโยชน์กันน้อย เช่น ว่านแสงอาทิตย์ (Haemanthus) ว่านมหาลาภ (Eucrosia) ว่านนางคุ้ม (Eurycles) ว่านมหาโชค (Eucharis) ดาหลา (Etlingera) กระเจียวและปทุมมา (Curcuma) ซ่อนกลิ่น (Polianthes) หงส์เหิน (Globba) และดองดึง (Gloriosa) เป็นต้น ไม้ดอกที่กล่าวถึงนี้ ถ้าเป็นไม้เขตร้อนสามารถปลูกเลี้ยงได้ทั่วประเทศ แต่ถ้าเป็นไม้เขตหนาวบางชนิดสามารถปลูกเลี้ยงได้บนที่สูงของประเทศเนื่องจากเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีอากาศเย็น สำหรับการปลูกเลี้ยงไม้ดอกประเภทหัว ใช้วิธีการปลูกเลี้ยงเหมือนไม้ดอกทั่วไป แต่แตกต่างกันตรงที่ใช้หัวเป็นส่วนขยายพันธุ์แทนเมล็ด การปลูกให้ได้ผลดีให้ปลูกจากหัว และมีข้อควรระวังคือ ต้องตรวจสอบว่าหัวที่ใช้ปลูกหมดระยะพักตัวแล้ว นอกจากนั้นแล้วควรจะต้องใช้เครื่องปลูกที่ระบายน้ำดี เพราะหัวเน่าง่าย ไม้ดอกประเภทหัวบางชนิดต้องการการพรางแสงในการเจริญเติบโต การใช้ประโยชน์ ไม้ดอกประเภทหัวนั้น ประเทศในเขตอบอุ่นของยุโรปและอเมริกาใช้ประโยชน์ ไม้ดอกกลุ่มนี้กว้างขวางมาก ใช้ทั้งเป็นไม้ตัดดอก ไม้กระถาง และไม้สนาม แต่ในประเทศไทยการใช้ประโยชน์ค่อนข้างจำกัด มักจะเป็นการใช้เพื่อตัดดอกเป็นส่วนใหญ่ และมักจะนิยมไม้ดอกประเภทหัวเขตหนาวเสียเป็นส่วนมาก ส่วนไม้ดอกประเภทหัวเขตร้อนซึ่งมีความสวยงามไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันนั้น เพิ่งจะได้รับความสนใจเมื่อไม่นานนี้เอง การนำไม้ดอกประเภทหัวไปใช้ในรูปแบบต่างๆ เอกสารอ้างอิง: De Hertogh A.A. and M. Le Nard (eds.). 1993. The Physiology of Flower Bulbs. Elsevier, Amsterdam. 811 p. Hartman, T.H., A.M. Kofranek, V.E. Rubatzky and J.W. Flocker. 1988. Plant Science. Prentice Hall, New Jersey. 647 p.

 อ่านเพิ่มเติม...

แนวทางการบริหารจัดการศัตรูพืชในวิกฤตโลกร้อน

หมวดหมู่: สิ่งแวดล้อม

แนวทางการบริหารจัดการศัตรูพืชในวิกฤตโลกร้อน

โดย กาญจนา วิชิตตระกูลถาวรแผนกอารักขาพืช ฝ่ายส่งเสริมและพัฒนา ภาวะโลกร้อน (GLOBAL WARMING) เป็นภาวะที่อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศใกล้พื้นผิวโลกและน้ำในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น ซึ่งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ของสหประชาชาติได้สรุปไว้ว่า จากการสังเกตการณ์การเพิ่มอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลก ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 (พ.ศ. 2490) ค่อนข้างแน่ชัดว่าเกิดจากการเพิ่มความเข้มของแก๊สเรือนกระจก ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ และมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา อากาศใกล้ผิวดินทั่วโลก มีค่าเฉลี่ยสูงขึ้น 0.74 ± 0.18 องศาเซลเซียส ซึ่งหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส หรือ 2 องศาเซลเซียส จะเกิดวิกฤตต่างๆ เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าปัจจุบันโลกได้เข้าสู่ภาวะโลกร้อนแล้ว ภาพที่ 1 การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกในภาวะโลกร้อน ผลกระทบที่มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีความรุนแรงมากขึ้น เช่น คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง และน้ำท่วม เป็นต้น ในปัจจุบันความแห้งแล้งทั่วโลกได้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 30 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกยิ่งสูงยิ่งมีความเสี่ยงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เรียกว่า “สภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว” หรือ Extreme Weather Event ซึ่งเป็นภัยทางธรรมชาติที่ส่งผลรุนแรงและบ่อยขึ้น โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรงมากกว่าเดิม ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจภาคเกษตร ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งกลางวัน หรือกลางคืน ล้วนแต่มีผลกระทบทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพในกาผลิตพืช เช่น การผสมเกสรไม่ติด ทำให้จำนวนดอก จำนวนเมล็ด จำนวนผลลดลง นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เพิ่มข้อจำกัดในการผลิตพืช ทั้งในเรื่อง ความแปรปรวนของปริมาณน้ำฝน การกระจายของฝนที่ไม่สม่ำเสมอ และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ส่งผลต่อการระบาดของศัตรูพืชที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงต่อแมลงศัตรูพืช ศัตรูพืชเป็นปัญหาที่สำคัญในการผลิตพืชของเกษตรกรทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น โรคพืช แมลงศัตรูพืชและวัชพืช ซึ่งส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพของผลิตผล สำหรับศัตรูพืชที่มีความสำคัญและได้รับผลกระทบอย่างสูงจาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ได้แก่ แมลงศัตรูพืช เนื่องจากแมลงเป็นสัตว์ที่มีอุณหภูมิของร่างกายใกล้เคียงกับอุณหภูมิภายนอก แมลงจึงมีการตอบสนองอย่างรวดเร็วต่ออุณหภูมิ เมื่อสภาพอากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้น แมลงมักจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะไปช่วยเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของน้ำย่อย กระบวนการทางเมแทบอลิซึม กระบวนการดูดซึมและกระบวนการสร้างสารชีวเคมีที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างรวดเร็ว และจากรายงาน หากอุณหภูมิมีการปรับสูงขึ้น 10 องศาเซลเซียส แมลงจะมีอัตรา เมแทบอลิซึมเพิ่มขึ้นประมาณสองเท่า ทำให้แมลงกินอาหาร เคลื่อนไหว และพัฒนาตัวเร็วขึ้น จากการเผาผลาญพลังงานเร็วขึ้น ทำให้แมลงหิวโหยและจะกินพืชอาหารมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการเพิ่มขี้นของอุณหภูมิ จึงมีผลต่อพฤติกรรมของแมลง การเจริญพันธุ์ของแมลง อัตราการอยู่รอดในช่วงฤดูหนาวของแมลงซึ่งมีความสัมพันธ์กับการต้านทานของแมลง ทำให้แมลงที่มีความต้านทานสูงจะอยู่ได้นานขึ้น รวมทั้งการเพิ่มจำนวนรุ่นของแมลง เช่น หากสภาพอากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส เพลี้ยอ่อนจะมีจำนวนรุ่นเพิ่มขึ้น 4-5 รุ่นต่อปี นอกจากนี้ยังมีผลต่อขนาดประชากรและการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ของแมลงอีกด้วย ทั้งนี้มีการประมาณการว่า หากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกภายในปลายคริสต์ศตวรรษนี้ยังสูงขึ้น แมลงศัตรูพืชอาจจะกัดกินผลผลิตทางการเกษตรถึงร้อยละ 15 – 20 และหากระดับอุณหภูมิของโลกยังเพิ่มสูงขึ้นต่อไป คาดว่าความสูญเสียจาก เเมลงศัตรูพืชที่กัดกินข้าวโพด ข้าวสาลีและข้าว จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างน้อย 8 ล้านตันต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 36 เปอร์เซ็นต์จากระดับความเสียหายของศัตรูพืชในปัจจุบัน นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศยังส่งผลต่อการย้ายที่อยู่ของแมลง ความเสี่ยงของสายพันธุ์รุกรานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งพบว่าแมลงสายพันธุ์ที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง จะมีจำนวนประชากรลดลงและถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์อื่น ส่งผลให้ปัจจุบันพบศัตรูพืชใหม่เพิ่มขั้นอย่างต่อเนื่อง ภาพที่ 2 แมลงศัตรูพืชที่สำคัญบนพื้นที่ ภาพที่ 3 ผลกระทบของอุณหภูมิที่สูงขึ้นต่อแมลงศัตรูพืช จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อแมลงศัตรูพืชแล้ว ยังมีผลกระทบต่อแมลงศัตรูธรรมชาติด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ปริมาณน้ำฝนที่ลดลง ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ศัตรูธรรมชาติบางชนิดมีอัตราการตายเพิ่มขึ้น ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งอาหารลดลง หรือไม่สามารถหาคู่ผสมพันธุ์ได้ เช่น มวนเพชฌฆาตในสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล ทำให้ไม่สามารถหาหนอนกระทู้ผักได้ตามปกติ จึงส่งผลให้จำนวนประชากรของมวนเพชฌฆาตลดลง นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศยังส่งผลให้ประสิทธิภาพของชีวภัณฑ์และสารเคมีที่ใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชลดลงด้วย เช่น หากอุณหภูมิสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ประสิทธิภาพของสารกำจัดศัตรูพืชลดลงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังมีความสัมพันธ์กับการระบาดของโรคพืชบางชนิดที่มีแมลงเป็นพาหะ เช่น โรคไวรัสในพืชผัก ไม้ดอกและไม้ผล ที่อาจมีแนวโน้มการระบาดรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย มูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งเป็นโครงการในพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศรมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ขจัดปัญหาการปลูกพืชเสพติด พัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรชาวเขา ให้มีความอยู่ดี กินดี รวมทั้งฟื้นฟูสภาพแวดล้อมบนพื้นที่สูงของประเทศไทย ให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ ปลอดภัย และมีความมั่นคง ด้วยการส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ทั้งภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตรให้แก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง โดยมุ่งเน้นการผลิตพืชภายใต้มาตรฐานอาหารปลอดภัยที่เน้นการใช้ชีวภัณฑ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมูลนิธิโครงการหลวงมีจำนวนเกษตรกรที่ได้รับรองมาตรฐานการผลิตกว่า 12,311 ราย พื้นที่ 36,557.39 ไร่ ในพื้นที่ 39 ศูนย์ฯ/สถานีฯ (ข้อมูลปี 2566) ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานส่งเสริมการผลิตพืชบนพื้นที่สูงของมูลนิธิโครงการหลวง ฝ่ายส่งเสริมและพัฒนา มูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) จึงได้จัดประชุมเสวนาวิชาการ เรื่อง “วิกฤตโลกร้อน…ต่อการเกษตรบนพื้นที่สูงและการอารักขาพืชที่ยั่งยืน” เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เกิดจากภาวะโลกร้อน และเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อเกษตรกรบนพื้นที่สูง โดยระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้เกี่ยวข้อง จากหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย กรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การหมาขน) และมูลนิธิโครงการหลวง ในการป้องกันความเสี่ยงของภาวะโลกร้อนต่อการจัดการศัตรูพืชบนพื้นที่สูง ภาพที่ 4 การประชุมเสวนาวิชาการ เรื่อง “วิกฤตโลกร้อน…ต่อการเกษตรบนพื้นที่สูงและการอารักขาพืชที่ยั่งยืน” วันที่ 8 มีนาคม 2567 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ โดยที่ประชุมได้เสนอแนวทางการดำเนินงาน เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการรับมือในการจัดการศัตรูพืช ดังนี้ การพัฒนาระบบการติดตามการเปลี่ยนแปลงประชากรและการแพร่กระจายของศัตรูพืช (Monitoring Abundance and Distribution) ที่มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพื่อเฝ้าระวังการระบาดของศัตรูพืช การพัฒนาเทคนิค เทคโนโลยีการเกษตรใหม่ๆ มาใช้ในการผลิตพืช เช่น การใช้โครน การปรับปรุงพันธุ์rพืชและการประยุกต์ใช้หลักการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (Integrated Pest Management: IPM) ที่เน้นการจัดการพืช ดิน น้ำ ธาตุอาหารและศัตรูพืชที่เหมาะสม การศึกษาข้อมูลพื้นฐานของศัตรูพืชในสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม วงจรชีวิตของศัตรูพืชและความต้านทานสารกำจัดศัตรูพืชของแมลงที่สำคัญ (Insect Resistance management: IRM) รวมทั้งศัตรูพืชอุบัติใหม่ในพื้นที่มูลนิธิโครงการหลวง การพยากรณ์อากาศและการพัฒนาแบบจำลองการพยากรณ์การระบาดของศัตรูพืชบนพื้นที่สูง การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อบูรณาการงานในด้านต่าง ๆ เช่น สถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยต่างๆ ควรเร่งสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านชีววิทยา นิเวศวิทยา และพฤติกรรมของศัตรูพืชภายใต้ภาวะโลกร้อน อันจะเป็นรากฐานสำคัญในการคาดการณ์แนวโน้มการระบาดและพัฒนามาตรการป้องกันกำจัดที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ควรมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดี อันจะนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการจัดการศัตรูพืชที่เป็นสากล ภาพที่ 5 กับดักแมลงเพื่อใช้ติดตามประชากรและการแพร่กระจายแมลง นอกจากนี้ องค์กรและ/หรือผู้นำชุมชนในแต่ละท้องถิ่น ควรร่วมกันสร้างความตระหนักรู้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการระบาดของศัตรูพืช ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องและปลอดภัย ผ่านกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ในชุมชนเพื่อให้เกิดการยอมรับองค์ความรู้ใหม่และนำไปสู่การปฏิบัติ ที่สามารถแก้ไขปัญหาการระบาดของศัตรูพืชในวิกฤตโลกร้อนได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผลิตผลของมูลนิธิโครงการหลวงมีคุณภาพ สด สะอาด และปลอดภัย เอกสารอ้างอิง: พฤทธิชาติ ปุญวัฒโท, “ผลกระทบและสถานการณ์การระบาดของศัตรูพืชในภาวะโลกร้อน” ประชุมเสวนาวิชาการเรื่อง วิกฤตโลกร้อน..ต่อการเกษตรบนพื้นที่สูงและการอารักขาพืชที่ยั่งยืน, วันที่ 8 มีนาคม 2567, ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ, หน้า 1-19. วิษณุ อรรถวานิช, “ ภาวะโลกร้อน....ผลกระทบต่อภาคการเกษตรไทย”, ประชุมเสวนาวิชาการเรื่อง วิกฤตโลกร้อน..ต่อการเกษตรบนพื้นที่สูงและการอารักขาพืชที่ยั่งยืน, วันที่ 8 มีนาคม 2567, ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ.

 อ่านเพิ่มเติม...

ซุปเปอร์ฟู้ด “คีนัว” พืชทางเลือกสู่การพัฒนาบนพื้นที่สูง

หมวดหมู่: ข้าวและธัญพืช

ซุปเปอร์ฟู้ด “คีนัว” พืชทางเลือกสู่การพัฒนาบนพื้นที่สูง

โดย นางกาญจนา ปรังการ ตำแหน่งนักวิชาการงานวิจัยและพัฒนาพืชไร่ ฝ่ายงานวิจัยและพัฒนา หากกล่าวถึงอาหารธรรมชาติเพื่อสุขภาพ ที่มีคุณประโยชน์ทางโภชนาการต่อร่างกายสูง คนส่วนใหญ่คงนึกถึงธัญพืชเพราะธัญพืชเป็นอาหารที่สำคัญ เป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตที่ช่วยให้พลังงานแก่มนุษย์ มีการปลูกกันโดยทั่วไป ราคาไม่แพง แต่มีประโยชน์มาก ปัจจุบันจึงมีผู้นำธัญพืชหลายชนิดไปผสมกับอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ เพื่อการบริโภค “คีนัว” (Quinoa) ก็เป็นพืชอีกชนิดที่ถูกยกให้เป็นสุดยอดของอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นพืชพันธุ์พื้นเมืองมีแหล่งปลูกดั้งเดิมมาจากกลุ่มประเทศในเขตเทือกเขาแอนดิสในทวีปอเมริกาใต้ มีฐานพันธุกรรมกว้างตั้งแต่ลักษณะพันธุ์ป่า พันธุ์ปลูก และวัชพืช ชาวอินคาถือว่าเมล็ดคิวนัวเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ และทำการเพาะปลูกมากว่า 7,000 ปี โดยพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญอยู่ในกลุ่มประเทศโบลิเวีย เปรู และชิลี คีนัวจัดอยู่ในวงศ์ Chenopodiaceae เนื่องจากเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แต่มีลักษณะการใช้ประโยชน์เพื่อการบริโภคคล้ายกลุ่มธัญพืช จึงจัดประเภทการใช้ประโยชน์ของคีนัวเป็นธัญพืชเทียม จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับผักโขม หัวบีทและปวยเล้ง เป็นพืชล้มลุก ลำต้นตั้งตรง ดอกมีลักษณะแบบช่อแขนง โดยจัดเลียงอยู่บนส่วนยอด เมล็ดมีลักษณะเป็นเม็ดกลม ๆ หน้าตาคล้ายกับธัญพืชทั่ว ๆ ไปดอกของคีนัวมีหลากหลายสี มีทั้งสีขาว แดง ม่วง ดำ เหลือง เขียว ชมพู แตกต่างกันออกไป ตามแต่ละท้องถิ่นหรือพื้นที่ที่ปลูก จะพบมากในประเทศแถบอเมริกาใต้ เช่น เปรู โปลิเวีย เอกวาดอร์ โคลัมเบีย และชิลี เป็นต้น คีนัว จึงเป็นพืชที่มากประโยชน์เป็นที่รู้จักกันในนามว่า Superfood มีคุณค่าทางโภชนาการสูงโดยเฉพาะเป็นแหล่งโปรตีน และกรดอะมิโน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มของธัญพืช หรือถั่วชนิดต่าง ๆ เมล็ดคีนัวมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมาก ได้แก่ โปรตีนที่มีปริมาณมากถึงร้อยละ 16 - 18 ของน้ำหนักแห้งเมล็ด ประกอบด้วยโปรตีนที่มีคุณภาพดี ปริมาณกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย และธาตุอาหารที่จำเป็น นอกจากนี้คีนัวยังเป็นอาหารที่สามารถย่อยได้ง่าย เหมาะสำหรับผู้บริโภคมังสวิรัติหรือชอบรับประทานอาหารแบบคลีน ผู้ที่เป็นโรคแพ้โปรตีนจากเนื้อสัตว์ สัตว์ทะเล และธัญพืชบางชนิด สามารถบริโภคทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ รวมทั้งกลุ่มผู้บริโภคที่แพ้น้ำตาลแลคโตสและกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน นักโภชนาการได้ยกย่องให้คีนัวเป็นสุดยอดอาหารทรงคุณค่าอันดับที่ 4 จาก 10 อันดับ ของอาหารที่อยู่บนโลกได้รับความนิยมมากในต่างประเทศ เป็นหนึ่งในพืชไม่กี่ชนิดที่มีกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้ ถึง 9 ชนิด นอกจากนี้ คินัวยังมีเส้นใยที่สูงร้อยละ 18 – 25 มีโปรตีนสูง ปราศจากกลูเต็น อีกทั้งยังอุดมไปด้วยสารอาหารอีกมากมายทั้ง แมกนีเซียม, วิตามินบี, วิตามินอี, ธาตุเหล็ก, โพแทสเซียม, แคลเซียม, ฟอสฟอรัส และสารต้านอนุมูลอิสระ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย จึงได้รับฉายาว่า ซูเปอร์ฟู้ด หรือธัญพืชที่คุณค่าทางอาหารสูง ทำไห้องค์การสหประชาชาติประกาศให้ปี 2556 เป็นปีแห่งคีนัว สำหรับมูลนิธิโครงการหลวงได้เริ่มศึกษาและวิจัยคีนัว มาตั้งแต่ปี 2556 โดยทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันแหล่งพันธุกรรมแห่งชาติชิลี และสถานทูตชิลีประจำประเทศไทย โดยการปลูกทดสอบคีนัวในพื้นที่ของมูลนิธิโครงการหลวง ผลการทดสอบพบว่าพื้นที่สูงของประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตคีนัว และสามารถพัฒนาสู่การผลิตเพื่อการตลาดในประเทศไทยได้ จากความสำเร็จของานวิจัยในปี 2562 มูลนิธิโครงการหลวง ทำการขึ้นทะเบียนพันธุ์คีนัว จำนวน 2 พันธุ์ คือ พันธุ์แดงห้วยต้มและพันธุ์เหลืองปางดะนำ ไปสู่การส่งเสริมการปลูกคีนัวซึ่งประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในปี 2567 จำนวนกษตรกรทั้งหมด 79 ราย พื้นที่ 48 ไร่ โดยมีปริมาณผลิตคีนัวในระบบมาตรฐาน GAP อยู่ที่ 9,622 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,443,300 บาท และปริมาณผลิตคีนัวในระบบมาตรฐานอินทรีย์อยู่ที่ 288 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 46,080 บาท ทั้งนี้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแกน้อย ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่แรกในประเทศไทยที่มีการส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกคีนัวเชิงการค้า โดยเริ่มแรกนำคีนัวมาทดลองปลูกครั้งแรก แรกเริ่มมีเกษตรกรที่สนใจปลูกเพียง 3 ราย เพราะคีนัวเป็นพืชใหม่ ยังไม่เป็นรู้จัก และไม่กล้าปลูก แต่เมื่อทดลองปลูกและเก็บเกี่ยว สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรปริมาณ 100,000 บาทต่อราย รอบการปลูกใช้น้ำน้อย อายุการเก็บเกี่ยวสั้น ซึ่งสามารถส่งเสริมปลูกเป็นพืชเสริมในระบบเกษตรบนพื้นที่สูง โดยเฉพาะในช่วงท้ายของฤดูฝน ซึ่งโดยปกติช่วงเวลาดังกล่าวเกษตรกรบนพื้นที่สูงมีกิจกรรมด้านการเพาะปลูกพืชน้อย เนื่องจากถูกจำกัดด้วยปริมาณน้ำฝน จึงเป็นพืชทางเลือกหนึ่งที่เสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรบนพื้นที่สูงต่อไป การวิจัยและพัฒนาคีนัวบนพื้นที่สูง .km-vdo-section { width: fit-content; margin: auto; /* Mobile Youtube */ @media screen and (max-width:767px) { margin: 0; width: 100%; iframe[src*="youtube"] { width: 100% !important; } } }

 อ่านเพิ่มเติม...

ไก่ไข่อินทรีย์เปลือกขาวโครงการหลวง

หมวดหมู่: ประมงและปศุสัตว์

ไก่ไข่อินทรีย์เปลือกขาวโครงการหลวง

โดย นางสาวณัฐกานต์ มณีทอง ตำแหน่งนักวิชาการงานวิจัยและพัฒนาปศุสัตว์ ฝ่ายงานวิจัยและพัฒนา ไข่ไก่ แทบจะเป็นส่วนอาหารหลักหรือส่วนประกอบในเมนูอาหารของคนไทยเพราะหาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง ใช้ทำอาหารได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นต้ม ทอด ผัด ตุ๋นและยังมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนประกอบด้วยสารอาหารที่สำคัญ เช่น โปรตีน ไขมัน เกลือแร่ วิตามิน โดยเฉพาะโปรตีนของไข่นั้นเป็นโปรตีนที่มีกรดอมิโนที่จำเป็นครบทั้ง 10 ชนิด นอกจากสารอาหารดังกล่าวแล้วในไข่ยังประกอบด้วยสารอาหารสำคัญอื่นๆ เช่น โคลีนโฟเลต และเหล็ก ซึ่งจำเป็นต่อคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ลูทีนและซีแซนทีน ซึ่งเป็นสารอาหารกลุ่มแคโรทีนอยด์โดยสารอาหารทั้ง 2 ชนิดนี้ดีต่อดวงตา ถึงแม้ในไข่จะมีคลอเรสเตอรอลสูงแต่เป็นคลอเรสเตอรอลที่ดีต่อสุขภาพช่วยเพิ่มค่าคลอเรสเตอรอลประเภทดี (HDL) และลดค่าคลอเรสเตอรอลประเภทไม่ดี (LDL) ดังนั้นไข่ไก่จึงเหมาะกับบุคคลทุกเพศทุกวัยไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือวัยชรา และปัจจุบันผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่ปลอดภัยหรือผลิตภัณฑ์ที่มาจากระบบการเลี้ยงปล่อยอิสระตามธรรมชาติ ซึ่งมีผลการวิจัยที่พบว่าการเลี้ยงไก่ระบบปล่อยอิสระตามธรรมชาติจะทำให้คุณภาพเนื้อและไข่ที่ดี มีคุณค่าทางโภชนะที่ดีกว่าไก่ที่เลี้ยงในระบบขังคอกหรือแบบกรงตับซึ่งพบในการผลิตแบบอุตสาหกรรม จึงเป็นที่มาของการผลิตไก่ไข่อินทรีย์ในพื้นที่ของมูลนิธิโครงการหลวง มูลนิธิโครงการหลวงได้เริ่มมีการส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงเลี้ยงไก่ไข่ในระบบอินทรีย์เมื่อปี พ.ศ. 2559 โดยใช้ไก่สายพันธุ์เล็กฮอร์นขาวหงอนจักร ซึ่งเป็นไก่สานพันธุ์ไข่ที่มีขนาดตัวเล็กให้ผลผลิตไข่มีสีขาวทั้งฟองเหมือนไข่เป็ดซึ่งแตกต่างกับไข่ไก่ที่พบเห็นกันมากในประเทศไทยที่มีสีน้ำตาล ทำให้ไข่ไก่สีขาวเป็นเอกลักษณ์ของไข่ไก่โครงการหลวงพร้อมทั้งยังมีการผลิตตามมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้เลยว่าได้รับไข่ที่ไก่มีคุณภาพดี มีโภชนาการสูง และปลอดภัยจากสารตกค้าง ปัจจุบันมีการเลี้ยงไก่ไข่ในพื้นที่สถานีเกษตรหลวงปางดะ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ ทุ่งเริง ห้วยเสี้ยว และแม่แพะ การเลี้ยงไก่ไข่ในระบบอินทรีย์ของมูลนิธิโครงการหลวง สายพันธุ์ไก่ ไก่ไข่สายพันธุ์เล็กฮอร์นขาวหงอนจักร (Single Comb White Leghorn)เป็นไก่ไข่ที่มีถิ่นกำเนิดทางตอนกลางของประเทศอิตาลีมีหลากหลายสีแต่สีที่นิยมมากที่สุดคือสีขาว ลักษณะประจำสายพันธุ์ คือ มีขนสีขาวทั้งตัว ขนาดตัวเล็กกว่าไก่สายพันธุ์อื่นๆ เพศผู้จะมีน้ำหนักเมื่อโตเต็มวัย เท่ากับ 2 – 3 กิโลกรัม เพศเมียจะมีน้ำหนัก เท่ากับ 1.8 – 2.2 กิโลกรัมเริ่มให้ไข่ที่อายุ 4 – 5 เดือน ให้ผลผลิตเร็วจะให้ไข่ปีละประมาณ 300 ฟอง ลักษณะไข่เปลือกมีสีขาวทั้งฟอง มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนอาหารเป็นผลผลิตได้ดี สามารถเลี้ยงปล่อยได้ และทนกับสภาพอากาศร้อน การนำไก่ไข่ที่ไม่ได้ผลิตตามระบบปศุสัตว์อินทรีย์เข้าเลี้ยงในฟาร์มที่มีการรับรองอินทรีย์แล้ว ไข่ที่ได้ต้องมีการปรับเปลี่ยนเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ องค์ประกอบของฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ในระบบอินทรีย์ การตั้งฟาร์มเลี้ยงไก่หรือสัตว์อื่นๆ ต้องเลือกพื้นที่ที่เป็นที่ดอนน้ำไม่ท่วม ไม่มีประวัติการเกิดโรคระบาด และพื้นที่ต้องไม่มีประวัติการใช้สารเคมีที่ห้ามใช้อย่างน้อย 3 ปี ในพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินสามารถปลูกพืชหมุนเวียนได้ โรงเรือนสำหรับเลี้ยงไก่ต้องมีความคงทนแข็งแรงสามารถป้องกันลม ฝน แดด และสัตว์พาหนะหรือสัตว์ที่จะเข้าไปทำอันตรายกับตัวไก่ได้ พื้นโรงเรือนควรเป็นพื้นที่ทำความสะอาดได้ง่ายไม่เกิดการสะสมของเชื้อโรค ภายในโรงเรือนต้องมีพื้นที่เพียงพอต่อตัวไก่ โดย ต้องมีพื้นที่ 0.25 ตารางเมตรต่อไก่ 1 ตัว หรือ ถ้าเลี้ยงไก่ 100 ตัว ต้องมีพื้นที่ภายในโรงเรือน 25 ตารางเมตร ภายในโรงเรือนต้องมีวัสดุรองพื้นเพื่อคอยซับมูลสัตว์ ถังน้ำขนาด 8 ลิตร 1 ถังต่อไก่ 50 ตัว ถังอาหารขนาดใหญ่ 1 ถังต่อไก่ 25 ตัว คอนนอน และรังไข่ที่เพียงพอกับจำนวนสัตว์ พื้นที่ปล่อยอิสระให้เพียงพอสำหรับจำนวนไก่ที่เลี้ยง โดย ต้องมีพื้นที่ 4 ตารางเมตรต่อไก่ 1 ตัว หรือ ไก่ 100 ตัว ต้องมีพื้นที่ปล่อย 400 ตารางเมตร ภายในลานปล่อยต้องปลูกพืชหมุนเวียน สมุนไพร และพืชที่ให้ร่มเงา สำหรับให้ไก่จิกกินอย่างเพียงพอ ซึ่งโดยรอบพื้นที่ต้องมีการล้อมรั้วเป็นอาณาเขตของฟาร์มเพื่อป้องกันสัตว์อื่นๆ เข้ามาทำอันตรายกับตัวไก่ คอกพักสัตว์ป่วย พื้นคอกต้องทำความสะอาดได้ง่ายไม่ก่อให้เกิดการสะสมของโรค ห้องเก็บอาหารสัตว์ เป็นห้องปิดมิดชิดป้องกันสัตว์พาหะได้ ควรมีพาเลทวางอาหารที่ยกสูงจากพื้น จุดป้องกันโรคก่อนเข้าฟาร์ม ให้มีที่ล้างมือ อ่างจุ่มเท้า และที่เปลี่ยนรองเท้าบูธสำหรับปฏิบัติงาน สถานที่เก็บผลผลิตไข่ต้องเป็นสถานที่เหมาะสมและไม่ทำให้ไข่เกิดการปนเปื้อนหรือปะปนกับผลผลิตที่ไม่ใช่อินทรีย์ อาหารและน้ำ การเลี้ยงไก่ไข่ในระบบอินทรีย์อาหารสัตว์ที่ใช้ต้องมาจากวัตถุดิบที่ปลอดสารพิษและได้รับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีโภชนะที่เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุไก่ โดย ระยะปรับเปลี่ยนต้องมีวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีความเป็นอินทรีย์สัดส่วนไม่น้อยกว่า 60% และวัตถุดิบทั่วไป 40% ของวัตถุแห้ง และเมื่อพ้นระยะปรับเปลี่ยนวัตถุดิบอาหารสัตว์ต้องมีความเป็นอินทรีย์สัดส่วนไม่น้อยกว่า 80% และวัตถุดิบทั่วไป 20% ของวัตถุแห้ง และไม่เสริมยาปฏิชีวนะ มีน้ำสะอาดให้ไก่กินสม่ำเสมอ รวมถึงการเสริมวัตถุดิบหรือผลพลอยได้ทางการเกษตร เช่น มะละกอ ข้าวโพด กล้วย ต้นกล้วย พืชผัก พืชตระกูลถั่ว สมุนไพร การป้องกันโรคและการใช้สมุนไพรในไก่ การเลี้ยงไก่ไข่ในระบบอินทรีย์ไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคได้ ดังนั้นการป้องกันโรคและการเสริมภูมิต้านทานให้แม่ไก่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ผู้เลี้ยงควรใส่ใจในการล้างมือและเปลี่ยนรองเท้าบูธก่อนเข้าปฏิบัติงานภายในฟาร์มเพื่อลดการนำเชื้อโรคจากที่อื่นเข้าฟาร์ม การพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อที่ได้รับรองให้ใช้ในระบบอินทรีย์ก่อนการนำไก่เข้าเลี้ยงใหม่ทุกครั้งหรือการทำความสะอาดคอกไก่ ถังน้ำ ถังอาหาร เป็นประจำ ไม่มีให้ฝุ่นและเชื้อโรคสะสม รวมถึงการเสริมภูมิต้านทานด้วยสมุนไพรให้กับแม่ไก่เพื่อป้องกันการเกิดโรค สมุนไพรเสริมสุขภาพไก่ 1. ฟ้าทะลายโจร สรรพคุณ แก้ไข้ แก้หวัดหน้าบวม แก้หวัดหน้าบวม แก้ท้องเสีย แก้ติดเชื้อในลำไส้ ช่วยให้เจริญอาหาร ฯลฯ วิธีใช้ ใบตากแห้งบดเป็นผง 150 ซีซีต่ออาหารข้น 100 กิโลกรัม 2. ขมิ้นชันสรรพคุณ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ลดการอักเสบ ท้องเสีย ฯลฯ วิธีใช้ เหง้าตากแห้งบดเป็นผง 150 ซีซีต่ออาหารข้น 100 กิโลกรัม 3. ไพลสรรพคุณ แก้ท้องอืด ท้องเสีย ขยายหลอดลม บิดเป็นมูกเลือด ฯลฯ วิธีใช้ เหง้าตากแห้งบดเป็นผง 150 ซีซีต่ออาหารข้น 100 กิโลกรัม 4. บอระเพ็ดสรรพคุณ แก้ไข้ ขับพยาธิภายใน ช่วยเจริญอาหาร บำรุงร่างกาย ฯลฯ วิธีใช้ เถาสดทุบแช่น้ำให้สัตว์กิน หรือนำมาหมักเป็นน้ำหมักชีวภาพ น้ำ 5. ตะไคร้หอมสรรพคุณ ป้องกันไร ยุง ช่วยดับกลิ่นพื้นคอก วิธีใช้ ใบใช้รองรังไข่ป้องกันไร หรือนำมาหมักเป็นน้ำหมักชีวภาพฉีดพ่นพื้นคอกเพื่อดับกลิ่นได้เป็นอย่างดี รู้หรือไม่ เปลือกไข่มีสารเคลือบผิวด้านนอกไว้ทำหน้าที่ปิดรูพรุนของเปลือกไข่เพื่อป้องกันไม่ใช้จุลินทรีย์เข้าไปทำลายเนื้อไข่หรือทำให้ไข่เน่า ในขณะเดียวกันยังช่วยลดการคลายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำของไข่ขาวและไข่แดงไว้อีกด้วย ดังนั้นการล้างไข่ก่อนการเก็บเป็นการทำลายสารเคลือบเปลือกไข่นี้ทำให้รูพรุนที่เปลือกไข่มีขนาดใหญ่ขึ้น ไข่มีการคลายน้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เร็วทำให้ไข่เสียความสดได้เร็ว และเป็นเหตุทำให้จุลินทรีย์เข้าไปในไข่ได้ง่ายทำให้ไข่เกิดการเน่าเสียได้ง่ายขึ้น ในการทดสอบความสดของไข่จึงสามารถทำง่ายๆ ได้โดยการนำไข่ไปลอยน้ำถ้าหากไข่ลอยขึ้นบ่งบอกถึงไข่เก่า ในการเก็บรักษาไข่ไก่ให้คงความสดทำได้โดยการทำความสะอาดไข่ด้วยการใช้ผ้าแห้งเช็ดไข่เบาๆ แล้วนำเก็บไว้ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส โดยการวางไข่ต้องหงายด้านป้านของไข่ขึ้นเนื่องจากมีฟองอากาศเป็นที่คายน้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการจัดวางไข่ไว้ตรงกลางตู้เพื่อให้ความเย็นที่สม่ำเสมอ เอกสารอ้างอิง: กฤติพิพัฒน์ รัตนนาวินกุล. (2563). คู่มือการเลี้ยงไก่ไข่แบบอินทรีย์ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง. เอกสารทางวิชาการ. สืบค้นเมื่อ 28 พ.ค. 2564, สืบค้นเมื่อ http://extension.dld.go.th/th1/images/stories/63.pdf กรมปศุสัตว์. ม.ป.ป. คู่มือการเลี้ยงไก่ไข่ระบบปล่อยอิสระและอินทรีย์:คู่มือแนะนำ. กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์ชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยจำกัด อำนวย สุขเหมือน. ม.ป.ป.. การเก็บรักษาไข่และผลิตภัณฑ์จากไข่. สืบค้นเมื่อ 28 พ.ค. 2564, http://lib3.dss.go.th/fulltext/dss_j/2536_41_131_p21-22.pdf

 อ่านเพิ่มเติม...

โครงการสวมหมวกให้ดอย (Hat on Hills)

หมวดหมู่: สิ่งแวดล้อม

โครงการสวมหมวกให้ดอย (Hat on Hills)

จากวิจัยสู่การพัฒนางานป่าไม้บนพื้นที่สูง โครงการสวมหมวกให้ดอย (Hat on Hills) โครงการหลวงถือกำเนิดขึ้นมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 เมื่อปีพ.ศ. 2512 จากการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชาวเขาในพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย จึงทรงมีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเหลือชาวไทยภูเขาในท้องถิ่นทุรกันดารและยากจนให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เลิกการปลูกฝิ่นโดยการปลูกพืชที่ถูกกฎหมายเพื่อสร้างรายได้ทดแทน และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร โดยวัตถุประสงค์สำคัญในการก่อตั้งโครงการหลวง ระยะเริ่มแรกมี 4 ประการ คือ ช่วยชาวเขาเพื่อมนุษยธรรม ช่วยชาวไทยโดยลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ คือ ป่าไม้และต้นน้ำลำธาร กำจัดการปลูกฝิ่น รักษาดินและใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง คือ ให้ป่าอยู่ในส่วนที่เป็นป่า และทำไร่ทำสวนในส่วนที่ควรเพาะปลูก อย่าให้สองส่วนนี้รุกล้ำซึ่งกันและกัน ในระยะเริ่มต้น โครงการหลวงมุ่งศึกษาวิจัยและพัฒนาพืชพันธุ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรทดแทนฝิ่น พร้อมกับจัดหาตลาดรองรับผลผลิตที่เกิดขึ้น ต่อมาได้มีการจัดตั้งสถานีเกษตรหลวงและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงต่างๆ รวม 38 แห่ง ใน 5 จังหวัดภาคเหนือตอนบน อันได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน และแม่ฮ่องสอน เพื่อดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมให้แก่ชาวเขาบนพื้นที่สูงในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชาวเขา โครงการหลวงดำเนินการส่งเสริมการฟื้นฟู อนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเพื่อให้กลับมาสู่ความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งต้นน้ำของประเทศไทย โดยการดำเนินงานในระยะแรกเน้นการจัดการและส่งเสริมการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เหมาะสมกับระดับความสูง ร่วมกับการส่งเสริมการปลูกป่าไม้ ในการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศน์บนพื้นที่สูง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานแนวทางการบริหารการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้เกิดประโยชน์ สร้างความสมดุลเพื่อให้มีความยั่งยืน โดยได้พระราชทานแนวคิดการปลูกป่าในเชิงผสมผสาน ทั้งด้านเกษตรวนศาสตร์และเศรษฐกิจสังคม ซึ่งรู้จักกันทั่วไปว่า “...การปลูกป่า 3 อย่าง แต่ให้ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งได้แก่ การปลูกไม้ผล ไม้สร้างบ้าน และไม้ฟืน นอกจากสามารถให้ประโยชน์ได้ถึง 4 อย่าง คือ ให้ประโยชน์ในตัวเองตามชื่อแล้ว ยังสามารถให้ประโยชน์อันที่ 4 ซึ่งเป็นข้อสำคัญ คือ สามารถช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธาร จากพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 ในการฟื้นฟูป่าไม้ที่ถูกทำลาย และอนุรักษ์ให้กลับสู่ความสมบูรณ์ โครงการหลวงจึงได้ริเริ่ม “โครงการป่าไม้ หรือ โครงการปลูกป่าบนพื้นที่สูง” (Highland Reforestation Project) โดยในระยะแรกเน้นทดสอบการปลูกไม้โตเร็ว และไผ่ชนิดต่างๆ ที่นำเข้ามาจากไต้หวัน ณ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง โดยผลการปลูกพบว่าพันธุ์ไม้โตเร็วหลายชนิดเติบโตได้ดี และไม้เหล่านี้เหมาะสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน เช่น ไม้จันทร์ทองเทศ (Fraxinus griffithii) เมเปิ้ลหอม (Liquidambar formosana) กระถินดอย (Acacia confusa) สนหนาม (Cunninghamia lanceolata) เพาโลว์เนีย (Paolownia taiwaniana) ซึ่งเป็นไม้ที่เติบโตเร็วมาก การบูร (Cinnamomum camphora) และซากุระดอย (Prunus cerasoides) จากปัญหาการขาดแคลนไม้ฟืนของเกษตรกรในพื้นที่สูง ในปี พ.ศ.2537 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงโปรดให้มีการขยายผลการปลูกไม้โตเร็วที่ได้ศึกษาทดลองที่ดอยอ่างขางเพื่อให้เกษตรกรปลูกสำหรับเป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน ซึ่งต่อมาเรียกชื่อโครงการดังกล่าวว่า “โครงการปลูกป่าชาวบ้าน” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่โครงการหลวง สร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกป่าชาวบ้าน และพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกป่าชาวบ้าน รวมทั้งลดการตัดฟันไม้จากป่าธรรมชาติและลดปัญหาความขัดแย้งด้านการบุกรุกป่ากับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ โดยทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์โครงการป่าชาวบ้านของมูลนิธิโครงการหลวงเป็นต้นมา และมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อให้การดำเนินงานโครงการป่าชาวบ้านให้กระจายไปตามพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงต่างๆ ทั้ง 39 ศูนย์ฯ /สถานีฯ ใน 7 จังหวัดภาคเหนือตอนบน อันได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปางแม่ฮ่องสอน และ ตาก โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน มีการปลูกป่าชาวบ้านไปแล้วทั้งสิ้น 4,146.10 ไร่ เกษตรเข้าร่วมโครงการ 3,873 ราย และด้วยสถานการณ์ปัจจุบันในหลายพื้นที่บนพื้นที่สูงพบการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ เช่น การปลูกพืชล้มลุกบนพื้นที่ลาดสูงชัน นับเป็นการใช้พื้นที่ที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดชะล้างพังทลาย และความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลงอย่างรวดเร็ว มีการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีทางการเกษตรในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนสารเคมีลงสู่สภาพธรรมชาติ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเน้นการสร้างความสมดุลในการแก้ไขในทุกมิติไปพร้อมๆ กัน มูลนิธิโครงการหลวงจึงได้จัดทำ “โครงการสวมหมวกให้ดอย” ขึ้น เพื่อเป็นรูปแบบการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในแปลงขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง โดยการใช้กระบวนการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม (Holistic problem solving) ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภายใต้การสืบสาน และรักษา แนวคิดพระราชทาน “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 มาเป็นพื้นฐานการดำเนินงาน และพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงตระหนักถึงประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ โดยมีกิจกรรมที่สำคัญที่ดำเนินการต่อยอดเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งได้แก่ ดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับหลักกฎหมาย ด้านการใช้ประโยชน์พื้นที่ ตามมาตรา 19 และ มาตรา 16 พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติและกรมอุทยานแห่งชาติตามมาตรา 64 และจัดทำแผนที่รายแปลง วิเคราะห์การใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยอ้างอิงระเบียบ กฎหมาย หรือมติครม. ต่างๆ เพื่อให้การดำเนินการฟื้นฟูป่าไม้ในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย บริหารจัดการพื้นที่ตามหลักวิชาการ โดยใช้ร่างแผนการใช้ที่ดินของกรมพัฒนาที่ดิน (Land Plan) มาเป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อให้เกิดความเหมาะสม โดยยึดรูปแบบการปลูกพืชในระบบวนเกษตรเป็นหลัก แบ่งสัดส่วนไม้ป่า ผสมผสานร่วมกับไม้เศรษฐกิจที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และความต้องการของชุมชน เช่น ไม้ผลชนิดต่างๆ กาแฟ กล้วย สมุนไพร พืชไร่ ฯลฯ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร บนความสมดุลทางเศรษฐกิจ และสังคม โดยมีผลตอบแทนจากไม้ป่า ไม้เศรษฐกิจ ที่สามารถต่อยอดไปสู่การแปรรูปผลผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างกลุ่ม อาทิ กลุ่มแปรรูป กลุ่มจักสาน เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งของคนและชุมชนให้ยั่งยืน บริหารจัดการพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยการจัดทำฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ เพื่อใช้ติดตามและประเมินความก้าวหน้าการปลูกป่า อาทิ จำนวนต้นไม้ต่อพื้นที่ ชนิดไม้ อัตราการรอดตาย การเจริญเติบโต ซึ่งสามารถแสดงผลในระบบออนไลน์ การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการประเมินคาร์บอนเครดิตในพื้นที่โครงการสวมหมวกให้ดอย เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การขอรับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs : Sustainable Development Goals) จากผลการดำเนินงาน ในปี พ.ศ. 2565 มูลนิธิโครงการหลวง ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คัดเลือกพื้นที่ 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน ห้วยโป่ง ห้วยน้ำขุ่น และเลอตอ จัดทำโครงการนำร่องดำเนินโครงการสวมหมวกให้ดอยเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดย กฟผ. ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2565 – 2575 โดยในปี พ.ศ. 2565 (ปีที่ 1) ได้ดำเนินการคัดเลือกพื้นที่และเกษตรกรเป้าหมายการวิเคราะห์ วางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกับการปลูกพืช (Land use) โดยยึดรูปแบบการปลูกพืชแบบวนเกษตรเป็นหลักพื้นฐาน แบ่งสัดส่วนระหว่างต้นไม้ป่า ไม้ยืนต้น ผสมผสานร่วมกับไม้เศรษฐกิจ พร้อมทั้งจัดทำแผนที่รายแปลง มีการปลูกต้นไม้รูปแบบวนเกษตรบนพื้นที่สูง จำนวน 89,605 ต้น ในพื้นที่ปลูก 812.13 ไร่ เกษตรกร 157 ราย ในปี พ.ศ. 2566 มูลนิธิโครงการหลวงขยายเพิ่มพื้นที่เป้าหมาย ในพื้นที่สถานีเกษตรหลวง และศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 7 แห่ง พื้นที่ดำเนินการ จำนวน 828.75 ไร่ เกษตรกร 148 ราย โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อกล้าไม้ ดูแลแปลง และดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ในระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 - 2576 ปัจจุบันมีการดำเนินงานโครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม แล้วจำนวน 1,640.88 ไร่ ในแปลงเกษตรกรรวม 305 ราย โครงการสวมหมวกให้ดอย เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่มั่นคง และเกื้อกูลกับการสร้างความสมดุลของสิ่งแวดล้อม มาขับเคลื่อนความสำเร็จของการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยการสร้างแรงจูงใจ สร้างจิตสำนึกและกระตุ้นให้เกษตรกรเห็นคุณค่าในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ ร่วมกับไม้เศรษฐกิจต่าง ๆ ที่จะเป็นรายได้ที่ยั่งยืนของเกษตรกร ซึ่งเป็นแนวทางสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง

 อ่านเพิ่มเติม...

น้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์

หมวดหมู่: วิจัยและนวัตกรรม

น้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์

ลาเวนเดอร์ (Lavender : Lavandula angustifolia) เป็นไม้ดอกอายุหลายปี โดยมีต้นกำเนิดแถบ เมดิเตอร์เรเนียนตะวันตก สามารถพบได้ทางเหนือของประเทศสเปน นิยมนำมาปลูกเพื่อประดับสถานที่ให้ความสวยงาม ปลูกเป็นไม้ประดับแปลง ไม้กระถาง และไม้ตัดดอก ตลอดจนสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบของอาหารชนิดต่างๆ ได้ โดยชาวอินเดีย และทิเบต ใช้เป็นสมุนไพรกันมานาน ช่วยฆ่าเชื้อ รักษาโรคผิวหนัง และมีกลิ่นหอมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย สำหรับประเทศไทยมีการนำเข้าลาเวนเดอร์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ และมูลนิธิโครงการหลวงได้ทดลองปลูกลาเวนเดอร์หลากหลายพันธุ์ เพื่อใช้ประโยชน์เป็นดอกไม้แห้ง ประดับสถานที่ให้ความสวยงาม และเป็นส่วนประกอบอาหาร และในปี 2565 มูลนิธิโครงการหลวงได้รับพระราชทานลาเวนเดอร์ 6 พันธุ์ จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ให้ดำเนินการปลูกเลี้ยง และดูแลในพื้นที่ของมูลนิธิโครงการหลวง โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตเป็นไม้กระถาง และขยายผลสู่งานส่งเสริม และผลิตน้ำมันหอมระเหย เพื่อเพิ่มศักยภาพและมูลค่าของพืช น้ำมันหอมระเหย...คืออะไร? น้ำมันหอมระเหย (essential oil) เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่พืชสร้างขึ้นและเก็บไว้ในส่วนต่าง ๆ ของพืช อีกทั้งยังมีกลิ่นเฉพาะตัวและน้ำหนักที่เบามาก จึงทำให้ร่างกายของเราสามารถดูดซึมและรับประโยชน์ของน้ำมันหอมระเหยได้ง่ายและเร็วที่มา: https://www.sabaiarom.com/th/น้ำมันหอมระเหย-about-essential-oils/ ลาเวนเดอร์สร้างน้ำมันหอมระเหยขึ้นมา...เพื่ออะไร? ด้วยพืชนั้นไม่สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองเพื่อหลีกหนีภัยอันตรายต่างๆ ได้ ดังนั้นพืชจึงสร้างน้ำมันหอมระเหยขึ้นมาเพื่อช่วยให้ตัวเองสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ ซึ่งคุณสมบัติของน้ำมันหอมระเหยส่วนมากจึงพบว่าสามารถช่วยในเรื่องของการฆ่าเชื้อโรค ปรับสมดุล ตลอดจนการต่อต้านอนุมูลอิสระได้ นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหยยังเป็นตัวกลางสำคัญที่ช่วยให้พืชสื่อสารซึ่งกันและกัน อีกทั้งกลิ่นหอมที่เป็นคุณสมบัติน้ำมันหอมระเหยยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยล่อแมลงมาให้ช่วยผสมเกสรและขยายพันธุ์ได้อีกด้วย ที่มา: https://www.sabaiarom.com/th/น้ำมันหอมระเหย-about-essential-oils/ น้ำมันหอมระเหยมีกลไกการทำงาน...อย่างไร? ปกติน้ำมันหอมระเหยโดยทั่วไป จะมีองค์ประกอบเคมีอินทรีย์จากธรรมชาติรวมตัวกันอยู่นับพันชนิด ซึ่งสารต่าง ๆ เหล่านี้จะมีองค์ประกอบที่ใกล้เคียงกับร่างกายของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ ร่างกายของเราจึงสามารถใช้ประโยชน์ของน้ำมันหอมระเหยได้อย่างเต็มที่ ที่สำคัญสารที่ได้จากน้ำมันหอมระเหยสกัดจากธรรมชาติ ยังมีขนาดโมเลกุลที่เล็กมาก จึงสามารถซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบฉนวนป้องกัน (Blood-Brain Barrier) เข้าสู่สมองและประสาทส่วนกลาง ซึ่งควบคุมการทำงานด้านความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ตลอดจนสมองส่วนที่ควบคุมสั่งการผลิตฮอร์โมนและสารสื่อประสาทต่าง ๆ นอกจากนี้ น้ำมันหอมระเหยยังสามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือด และไหลเวียนไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้สามารถออกฤทธิ์ในการปรับสมดุล และส่งผลต่อทุกระบบอวัยวะของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่มา: https://www.sabaiarom.com/th/น้ำมันหอมระเหย-about-essential-oils/ การกลั่นน้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์...ทำอย่างไร? การกลั่นน้ำมันหอมระเหยนั้นสามารถทำได้หลายวิธี แต่ส่วนใหญ่จะนิยมการกลั่นด้วยไอน้ำ (Steam Distillation) เนื่องจากเป็นวิธีสกัดที่ปราศจากสารแปลกปลอมเจือปน จึงทำให้น้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้มีความบริสุทธิ์สูง ปลอดภัย และต้นทุนไม่สูง โดยการกลั่นด้วยวิธีนี้ นำส่วนของต้นและดอกลาเวนเดอร์วางบนตะแกรงเพื่อให้ไอน้ำที่เกิดจากหม้อต้มไอน้ำจากด้านล่างระเหยผ่านขึ้นมา และนำพาโมเลกุลของสารอินทรีย์หอมระเหยในลาเวนเดอร์ให้ลอยตัวผ่านเข้าไปในท่อ แล้วเคลื่อนตัวผ่านไปยังท่อเกลียวที่หล่อน้ำเย็นเพื่อลดอุณหภูมิ เมื่อไอหอมระเหยถูกความเย็นจึงควบแน่นเป็นน้ำสกัดน้ำมันหอมระเหย (Hydrosol หรือ Floral Water หรือ Herbal Water) และน้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์ (Lavender essential oil) ลอยอยู่ส่วนบนของน้ำ จากนั้นจึงนำส่วนที่ลอยอยู่เหนือน้ำเก็บใส่ภาชนะ เพื่อตรวจสอบคุณภาพต่อไป น้ำมันหอมที่ได้จากการสกัดด้วยวิธีการกลั่นด้วยไอน้ำจะถูกเรียกว่า น้ำมันหอมระเหย หรือ Pure Essential Oil (Botanicessence) น้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์...ใช้ทำอะไรได้บ้าง? น้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์ เป็นน้ำมันหอมระเหยที่มีลักษณะใส ไม่มีสี หรือมีสีเหลืองอ่อน ๆ มีกลิ่นหอมหวานของดอกลาเวนเดอร์ เนื่องจากกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์และคุณสมบัติทางการบำบัดรักษาที่หลากหลาย อาทิเช่น ช่วยให้อากาศบริสุทธิ์ บรรเทาอาการปวด และรักษาสมดุลของระบบประสาท ทำให้รู้สึกสงบ และผ่อนคลายทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ช่วยคลายอาการตึงตัวของกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ ของร่างกาย จึงทำให้น้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์ได้รับความนิยมอย่างมากในการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม และเครื่องหอมต่างๆ สำหรับคุณสมบัติด้านความงามและการบำรุงผิว น้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์เป็นน้ำมันหอมระเหยเพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถนำไปใช้ได้โดยตรงกับผิวหนัง โดยไม่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองเหมือนน้ำมันหอมระเหยชนิดอื่นๆ ด้วยคุณสมบัติที่ต้านการอักเสบและฆ่าเชื้อได้ดี อีกทั้งยังช่วยสมานแผล และกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ รักษาอาการฟกช้ำ บรรเทาอาการของโรคผิวหนังต่างๆ ได้ดี ซึ่งมูลนิธิโครงการหลวงได้นำน้ำมันหอมระเหยไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิเช่น สบู่อโรม่าลาเวนเดอร์ แชมพูและครีมนวดผม ลาเวนเดอร์ ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นเท้าลาเวนเดอร์ และผลิตภัณฑ์น้ำหอมกระจายกลิ่นลาเวนเดอร์ เป็นต้น

 อ่านเพิ่มเติม...

ฟีโรด้วงหมัดผักคืออะไร

หมวดหมู่: อารักขาพืช/ชีวภัณฑ์

ฟีโรด้วงหมัดผักคืออะไร

การใช้ฟีโรโมนในการควบคุมแมลงศัตรูพืช ศัตรูพืชที่สร้างความเสียหายให้กับพันธุ์พืชของเกษตรกร นอกจากโรคต่างๆ ที่มักสร้างความเสียหายให้กับพืชผลมากมายแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งก็คือ ‘แมลงศัตรูพืช’ ซึ่งพบอยู่ทั่วไปตามแปลงเกษตร โดยในแต่ละพื้นที่ก็มักเจอแมลงที่เป็นศัตรูพืชต่างชนิดกัน การกำจัด ดูแล หรือป้องกันก็ย่อมมีวิธีการที่หลากหลายให้เลือกใช้ ในปัจจุบันนี้มีผลิตภัณฑ์มากมายที่ใช้สำหรับป้องกันศัตรูพืช ซึ่งเหมือนตัวช่วยลดความเสี่ยงจากการระบาด ช่วยกำจัด และช่วยลดปริมาณความเสียหายของพืชไปได้มาก ขณะนี้มีผลิตภัณฑ์อีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจและอยากแนะนำให้ได้รู้จักนั่นก็คือ ‘กับดักฟีโรโมน’ สารทดแทนสารเคมีชนิดใหม่ ที่ช่วยป้องกันการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์ กับดักฟีโรโมนคืออะไร? แมลงเป็นสัตว์ที่สามารถรับความรู้สึกต่อสารเคมีได้สูงกว่าสัตว์อื่นๆ แมลงใช้สารเคมีในการติดต่อสื่อสารกันเพื่อประโยชน์ต่างๆ หลายลักษณะเช่น ใช้ในการเลือกพืชอาหาร เลือกที่วางไข่ บอกทิศทางของเหยื่อ เพื่อการต่อสู้หรือป้องกันตัว และใช้ในการผสมพันธุ์ เป็นต้น โดยสารเคมีที่ปล่อยออกมานั้นจะกระตุ้นให้สัตว์หรือแมลงชนิดเดียวกันแสดงอาการโต้ตอบให้เข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งเราเรียกสารเคมีนี้ว่า ฟีโรโมน (Pheromone) ปกติแล้วฟีโรโมนที่พบในสัตว์ แบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ 1. ฟีโรโมนเพศ (Sex Pheromone) เป็นสารเคมีที่ปล่อยออกมาจากสัตว์หรือแมลงเพศใดเพศหนึ่งเพื่อดึงดูดเพศตรงข้ามมาผสมพันธุ์ แมลงจำพวกผีเสื้อจะมีฟีโรโมนชนิดนี้มากกว่าสัตว์ชนิดอื่น 2. ฟีโรโมนที่มีผลทำให้เกิดการรวมตัวกัน (Aggregation Pheromone) เป็นสารเคมีที่ทำให้สัตว์หรือแมลงทั้งสองเพศปล่อยออกมาเพื่อกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การปล่อยฟีโรโมนของด้วงปีกแข็งเพื่อดึงดูดให้รวมกลุ่มกัน เพื่อบอกให้รู้ว่ามีอาหารอุดมสมบูรณ์เหมาะเเก่การกินและวางไข่ 3. ฟีโรโมนที่ใช้เป็นสัญญาณเตือนภัย (Alarm Pheromone) สัตว์บางชนิดจะใช้ฟีโรโมนประเภทนี้ในการเป็นสัญญาณเตือนพวกเดียวกันให้รู้ว่ามีอันตรายเกิดชึ้นให้รีบหนีหรือรวมกลุ่มกันต่อสู้ 4. ฟีโรโมนที่ใช้เป็นเครื่องหมาย (Trial-marking Pheromone) แมลงบางชนิดขณะออกไปหาอาหารจะปล่อยฟีโรโมนชนิดนี้ไปตามทาง เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกทิศทางในการกลับรัง สำหรับฟีโรโมนที่พบและนำมาใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตรมากที่สุด คือ ฟีโรโมนเพศ ซึ่งนำมาทำเป็นกับดักฟีโรโมน โดยในแมลงบางชนิด ตัวผู้เท่านั้นที่จะผลิตฟีโรโมน เพื่อเรียกตัวเมีย แต่ในบางชนิดตัวเมียเป็นผู้ผลิต หรือบางชนิดมีการผลิตทั้งตัวผู้และตัวเมีย ทำให้เป็นฟีโรโมนที่มีความเฉพาะตัวใช้ได้กับแมลงแบบจำเพาะเท่านั้น ประโยชน์ของกับดักฟีโรโมน ใช้สำรวจปริมาณการระบาด (survey) และพยากรณ์การระบาดของแมลง เพื่อตัดสินใจใช้สารฆ่าแมลงและช่วยลดแรงงานในการสำรวจแมลงได้ใช้ประโยชน์ในการกำจัดแมลงโดยตรง โดยการติดตั้งกับดักเป็นจำนวนมากเพื่อดักแมลงใช้ในการทำให้แมลงเกิดการสับสนในการหาคู่ผสมพันธุ์ จะมีผลให้ปริมาณแมลงลดลง กับดักฟีโรโมนที่มีการใช้ในปัจจุบันจะมีความเฉพาะเจาะจงตามชนิดแมลงทำให้เกษตรกรไม่ค่อยนิยมนำมาใช้เหมือนการใช้สารเคมีซึ่งมีสามารถกำจัดแมลงได้อย่างกว้างขวาง แต่การใช้กับดักฟีโรโมนย่อมมีข้อดีและข้อด้อยดังนี้ ข้อดีของการใช้ฟีโรโมนล่อแมลง ข้อด้อยของการใช้ฟีโรโมนล่อแมลง 1. ประหยัดค่าสารเคมีฆ่าแมลง 1. ใช้ได้กับแมลงเฉพาะชนิด ไม่กว้างขวางแบบการใช้สารเคมี 2. ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม 2. ถ้าใช้กันยังไม่แพร่หลายจะหาซื้อยาก 3. ใช้ร่วมกับการกำจัดแมลงแบบผสมผสานได้ 3. ผู้ใช้ต้องมีความรู้ในเรื่องนี้จึงจะใช้ได้ผล 4. วิธีใช้ง่ายและสะดวก 4. การกำจัดจะได้ผลดีต้องอาศัยความร่วมมือกันอย่างกว้างขวาง กับดักฟีโรโมนจะใช้กับแมลงกลุ่มเป้าหมาย โดยจะแบ่งกลุ่มแมลงตามชนิดของฟีโรโมนที่ใช้ล่อ เช่น ผีเสื้อกลางคืน มอดแป้ง มอดเจาะเปลือกสน (Ips sp.) แมลงวันผลไม้ ยุง ฯลฯ ซึ่งส่วนประกอบหลักๆ ในกับดักฟีโรโมนจะมีอยู่ 3 อย่าง คือ สารสกัดฟีโรโมน หรือฟีโรโมนสังเคราะห์ (ฟีโรโมนที่นักเคมีสังเคราะห์ขึ้นเพื่อเลียนแบบธรรมชาติ), วัสดุสำหรับใส่หลอดบรรจุสารฟีโรโมน เช่น กล่องกระดาษ ขวด หลอด ฯลฯ และสารที่ใช้ทำให้แมลงตาย เช่น กาวเหนียว, สารเคมี, แอลกอฮอล์ ฯลฯ รูปแบบของกับดักฟีโรโมนนั้นจะแตกต่างกันในรูปร่างขนาด ส่วนโครงสร้างของกับดักก็มักจะสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมหรือระบบนิเวศของแมลงชนิดเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น กับดักฟีโรโมนสำหรับกำจัดด้วงหมัดผัก ด้วงหมัดผักอยู่ในวงศ์ Chrysomelidae อันดับ Coleoptera โดยชนิดที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่ คือ ด้วงหมัดผักแถบลาย (Phyllotreta sinuata) และด้วงหมัดผักสีน้ำเงิน (Phyllotreta chontanica) โดยเป็นแมลงศัตรูผักที่สร้างความเสียหายรุนแรงให้กับพืชตระกูลกะหล่ำ เช่น คะน้า กะหล่ำปลี ผักกาดหัว ผักกาดขาวปลี และผักกวางตุ้ง เป็นต้น โดยเฉพาะในสภาพอากาศช่วงต่อระหว่างฤดูหนาวและฤดูร้อน ลักษณะการทำลายของตัวอ่อนด้วงหมัดผักคือกัดกินหรือชอนไชเข้าไปกินอยู่บริเวณโคนต้นหรือรากของผักทำให้ผักเหี่ยวเฉาและไม่เจริญเติบโต หากรากถูกทำลายมากๆ อาจทำให้ผักตายได้ ส่วนตัวเต็มวัยจะกัดกินใบทำให้ใบมีรูพรุนซึ่งบางครั้งพบกัดกินลำต้นและกลีบดอกด้วย ด้วงหมัดผักชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ ตัวเต็มวัยเมื่อถูกกระทบกระเทือนจะกระโดดขึ้น จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ด้วงหมัดกระโดด ตัวเต็มวัยด้วงหมัดผัก การป้องกันกำจัดด้วงหมัดผักมีหลากหลายวิธี เช่น การไถพรวนดินตากแดด การใช้จุลินทรีย์ การใช้สารเคมีกำจัดแมลง การใช้กาวเหนียวดักแมลง เป็นต้น ซึ่งการใช้ฟีโรโมนในการดึงดูดจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีความปลอดภัยต่อการใช้งาน วิธีการใช้ง่ายมีประสิทธิภาพในการควบคุมได้ดีและใช้งานได้นาน มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้ทำการค้นคว้างานวิจัยเกี่ยวกับฟีโรโมนด้วงหมัดผักจนประสบความสำเร็จ และสามารถนำมาผลิตเพื่อให้เกษตรกรในมูลนิธิโครงการหลวง และเกษตรกรโครงการขยายผลแบบโครงการหลวงได้ใช้สำหรับล่อด้วงหมัดผักในแปลงเกษตรกร ซึ่งในปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร และสามารถจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่มีความสนใจมาซื้อไปใช้สำหรับกำจัดด้วงหมัดผักได้ทั่วไป สำหรับรูปแบบผลิตภัณฑ์และวิธีการใช้ในแปลงมีดังนี้ 1.รูปแบบของผลิตภัณฑ์ สารล่อดึงดูดแมลงมีลักษณะเป็นของเหลวบรรจุในจุกพลาสติก นำไปใช้กับกับดักแบบครอส (Cross trap) ซึ่งทำด้วยฟิวเจอร์บอร์ด 2 แผ่น ซึ่งนำมาประกอบกันเป็นกับดักหุ้มด้วยพลาสติกทากาวเหนียว ผลิตภัณฑ์ฟีโรโมนด้วงหมัดผักที่ผลิตโดยโรงชีวภัณฑ์ มูลนิธิโครงการหลวง    2. การเตรียมกับดัก 2.1 การเตรียมกับดักแบบครอส 1. ตัดแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 30x35 ซม. 2. ตัดแผ่นบอร์ด 2 แผ่น ออกเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 7x7 ซม. แล้วใช้คัดเตอร์ผ่าทั้งสองแผ่นออกเป็นแนวยาวจากตรงกลางของขอบบนลงมาด้านล่างจนถึงช่องสี่เหลี่ยมที่ตัดไว้ แผ่นหนึ่ง ส่วนอีกแผ่นตัดจากขอบล่างขึ้นไปหาช่องนั้น 3. นำฟิวเจอร์บอร์ดที่ตัดไว้ทั้ง 2 แผ่น มาประกอบเข้าด้วยกัน โดยนำส่วนที่ผ่าตรงกลางเสียบเข้าด้วยกัน (ภาพที่ 1และ2) แผ่นฟิวเจอร์บอร์ดจะต่อเชื่อมกันพอดี(ภาพที่3) 4. เตรียมไม้สำหรับเป็นหลักยึดความยาว 50 เซนติเมตร ตัดส่วนโคนของหลักให้แหลมเพื่อง่ายต่อการปักลงบนพื้นดิน (ภาพที่4) ใช้มีดผ่าด้านบนตามขวางลึกประมาณ 10 เซนติเมตร ตัดกันเป็นรูปกากบาท (ภาพที่5) แล้วนำฟิวเจอร์บอร์ดที่เตรียมไว้มาเสียบเข้าตรงรอยผ่าด้านบนของหลักยึด (ภาพที่6) เพื่อใช้ยึดกับตัวกับดัก 5. วิธีติดสารดึงดูดเข้าไปในกับดัก โดยนำฝาขวดขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร มาใช้บรรจุ paraffin gel และสารดึงดูด (ภาพที่7) และใช้สำลีหยดสารดึงดูดลงไป (ภาพที่8) นำทั้งสองแบบผูกติดตรงช่องที่ตัดไว้บนฟิวเจอร์บอร์ด ภาพที่ 7 ลักษณะการใช้สารดึงดูดด้วงหมัดผักใน paraffin gel ร่วมกับกับดักแบบครอส ภาพที่ 8 ลักษณะการใช้สารดึงดูดด้วงหมัดผักหยดบนสำลี ร่วมกับกับดักแบบครอส 3. วิธีการติดกับดัก แขวนสารล่อดึงดูดด้วงหมัดผักซึ่งบรรจุในสำลี หรือบรรจุ paraffin gel ใช้ลวดผูกกับแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดตรงช่องสี่เหลี่ยม (ภาพที่6) นำกาวเหนียวทาบนแผ่นพลาสติกที่หุ้มฟิวเจอร์บอร์ด จากนั้นนำไปติดตั้งในแปลงปลูกพืชช่วงก่อนหรือหลังย้ายปลูกไม่เกิน 3 สัปดาห์ เพื่อลดปริมาณด้วงหมัดผักตั้งแต่เริ่มปลูกพืชต่อเนื่องจนถึงเก็บเกี่ยว วางกับดักระยะห่าง 3-4 เมตร ให้สูงกว่าระดับความสูงของต้นพืช 10-20 เซนติเมตร สารล่อจะออกฤทธิ์นาน 4 สัปดาห์ (28 วัน) จึงต้องเปลี่ยนอันใหม่มาแทน และต้องเปลี่ยนพลาสติกใสที่ทากาวเหนียวเมื่อกาวมีความเหนียวลดลง ภาพที่ 9 ด้วงหมัดผักแถบลายที่ติดกับดักกาวเหนียว สรุป กับดักฟีโรโมน ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยกำจัดเเมลงได้อย่างปลอดภัย ไร้สารเคมี ช่วยลดอันตรายจากความเป็นพิษของสารกำจัดศัตรูพืชต่อมนุษย์ สัตว์และสิ่งแวดล้อม รวมถึงช่วยควบคุมปริมาณแมลงเเบบจำเพาะได้อย่างเห็นผลทันที นี่จึงเป็นอีกทางออกที่ช่วยให้คงประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชไว้ได้อย่างง่ายและสะดวก ซึ่งในอนาคตหากมีการพัฒนาต่อไปก็คงเป็นกับดักที่ช่วยเหลือเกษตรกรในการกำจัดแมลงศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี เอกสารอ้างอิง: จอมสุรางค์ ดวงธิสาร วีรเทพ พงษ์ประเสริฐ ไสว บูรณพานิชพันธุ์ และจิราพร ตยุติวุฒิกุล. 2550. ชีววิทยา และนิเวศวิทยาของด้วงหมัดผักแถบลายในเขตภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย. วิทยาสารกําแพงแสน5(1): 20-29.จิราพร กุลสาริน และอภิวัฒน์ ธีรวุฒิกุลรักษ์. 2560.โครงการย่อยที่ 5 การวิจัยและพัฒนาสารดึงดูดด้วงหมัดผัก.ในโครงการย่อยภายใต้ชุดโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพเกษตรจากความหลากหลายทางชีวภาพบนพื้นที่สูง. สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)สัจจะ ประสงค์ทรัพย์. 2558. ด้วงหมัดผักแถบลาย. (ระบบออนไลน์). แหล่งข้อมูล: http://hort.ezathai.org/?p=3489 (14 ตุลาคม 2558). สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) . 2562. ฟีโรโมน (ระบบออนไลน์). www.nstda.or.th/ Soroka, J. J., R. J. Bartelt, B. W. Zilkowski and A. A. Cosse´. 2005. Responses of flea beetle Phyllotretacruciferae to synthetic aggregation pheromone components and host plant volatiles in field trials. Journal of Chemical Ecology (in press) 8: 1829-1843. https://shop.grotech.co/blog/pheromone-trap-for-pests/ วิธีใช้ฟีโรด้วงหมัดผักร่วมกับกับดักกาวรูปกากบาท .km-vdo-section { width: fit-content; margin: auto; /* Mobile Youtube */ @media screen and (max-width:767px) { margin: 0; width: 100%; iframe[src*="youtube"] { width: 100% !important; } } }

 อ่านเพิ่มเติม...

การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (คู่มือความรู้ด้านมาตรฐานอาหารปลอดภัย GAP)

หมวดหมู่: มาตรฐาน GAP

การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (คู่มือความรู้ด้านมาตรฐานอาหารปลอดภัย GAP)

 อ่านเพิ่มเติม...

การเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อย

หมวดหมู่: ประมงและปศุสัตว์

การเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อย

 อ่านเพิ่มเติม...